ศาล รธน.ชี้เอกชนร่วมผลิตไฟฟ้าไม่ขัด รธน. แนะให้กำหนดเพดานการผลิตไฟฟ้าของเอกชน

ศาล รธน.ชี้เอกชนร่วมผลิตไฟฟ้าไม่ขัด รธน. แนะให้กำหนดเพดานการผลิตไฟฟ้าของเอกชน

View icon 127
วันที่ 9 ม.ค. 2566 | 16.22 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
เอกชนร่วมผลิตไฟฟ้าไม่ขัด รธน. ศาล รธน. มีมติเอกฉันท์ให้มีข้อแนะนําให้ กพช. กกพ. กําหนดกรอบ-เพดาน สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของเอกชน กำหนดปริมาณไฟฟ้าสํารองให้ใกล้เคียงความจริง หากทำให้เกิดความเสียหายแก่สาธารณะ อาจถูกดําเนินการโดยองค์กรอื่นหรือศาลอื่นได้

ปัญหาค่าไฟแพง วันนี้ (9 ม.ค.66) ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัย เรื่อง นายสุทธิพร ปทุมเทวาภิบาล ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 51 “การผลิตไฟของ กฟผ.ต่ำกว่า 51% ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่” ตามที่ก่อนหน้านี้เอ็นจีโอตั้งข้อสังเกตว่า ค่าไฟแพงเพราะรัฐบาลให้สิทธิเอกชนผลิตไฟไม่มีขีดจำกัดถึง70% จะขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่

ศาลรัฐธรรมนูญประชุมปรึกษาคดีดังนี้ กระทรวงพลังงานกําหนดยุทธศาสตร์ กระทรวงพลังงาน  (2559-2563) และแผนพัฒนากําลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย  (2561-2580)  ทําให้สัดส่วนกําลังการผลิตไฟฟ้า ของรัฐลดลงต่ำกว่า 51% เป็นการกระทําที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ  มาตรา 56 ประกอบ มาตรา 3 วรรคสอง หรือไม่

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติโดยเสียงข้างมาก 7 ต่อ 2 วินิจฉัยว่า การกระทําของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ผู้ถูกร้องที่ 1 และคณะกรรมการกํากับกิจการพลังงาน (กกพ.) ผู้ถูกร้องที่ 2 ที่ให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการผลิตไฟฟ้า เป็นการปฏิบัติหน้าที่ถูกต้องครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 56 วรรคสอง ประกอบมาตรา 3 วรรคสอง และศาลรัฐธรรมนูญมีมติโดยเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 วินิจฉัยว่า การกระทําของ กพช. และ กกพ. ที่ให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการ ผลิตไฟฟ้า เป็นการปฏิบัติหน้าที่ถูกต้องครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 56 วรรคสามและวรรคสี่ ประกอบ มาตรา 3 วรรคสอง

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ให้มีข้อแนะนําว่า รัฐโดยคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ และคณะกรรมการกํากับกิจการพลังงาน ต้องดําเนินการกําหนดกรอบหรือเพดานของสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของเอกชนในระบบผลิตไฟฟ้าของประเทศ และกําหนดปริมาณไฟฟ้าสํารอง อันเกี่ยวกับสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของเอกชน ซึ่งส่งผลต่ออัตราค่าไฟฟ้าที่เรียกเก็บจากประชาชนให้สอดคล้องและใกล้เคียงกับความเป็นจริง ตามความต้องการใช้ไฟฟ้าของทั้งประเทศในแต่ละช่วงเวลา  หากกําหนดกําลังไฟฟ้าสํารองสูงเกินสมควร  และก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์สาธารณะอาจถูกดําเนินการโดยองค์กรอื่นหรือศาลอื่นได้