คอลัมน์หมายเลข 7 : ศาล รธน. ชี้ กฟผ. ผลิตไฟฟ้าไม่ถึง 51 % ไม่ขัด รธน.

View icon 192
วันที่ 9 ม.ค. 2566 | 20.13 น.
ข่าวภาคค่ำ
แชร์
ข่าวภาคค่ำ - คอลัมน์หมายเลข 7 ของเรา เคยนำเสนอปัญหาทางกฎหมาย ที่ปัจจุบัน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. ผลิตไฟฟ้าแค่ประมาณ 32% ต่ำกว่าที่รัฐธรรมนูญ กำหนดให้บรรดาโครงข่ายพื้นฐานของกิจการสาธารณูปโภค รัฐต้องเป็นเจ้าของไม่ต่ำกว่า 51% กรณีนี้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำชี้ขาดออกมาแล้วว่า ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ คำตัดสินนี้ส่งผลอย่างไรต่อการจ่ายค่าไฟฟ้าของประชาชน ติดตามกับ คุณสุธาทิพย์ ผาสุข

โล่งอกกันไปสำหรับ กฟผ. หลังศาลรัฐธรรมนูญ ชี้ขาดว่า การที่ยุทธศาสตร์กระทรวงพลังงาน พ.ศ. 2559-2563 และแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย หรือ PDP พ.ศ. 2561-2580 ทำให้สัดส่วนกำลังการผลิตไฟฟ้าของรัฐ ลดลงต่ำกว่า 51% เหลือแค่ 32% ในปัจจุบัน ไม่ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 56 วรรคสอง ซึ่งผลจากคำวินิจฉัยดังกล่าว ก็ทำให้ไม่ต้องยกเลิก หรือ ไปรื้อยุทธศาสตร์ฯ ที่ทำไว้

แต่สำหรับภาคประชาสังคม ที่ตั้งความหวังกับเรื่องนี้ไว้ ว่า ถ้าศาลรัฐธรรมนูญ ตัดสินว่าขัดรัฐธรรมนูญ จะช่วยให้เกิดการรื้อโครงการผลิตไฟฟ้าในปัจจุบัน ก็ค่อนข้างผิดหวัง

กว่าที่เส้นทางคดีนี้จะเดินมาถึงจุดที่ศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดว่าไม่ขัดรัฐธรรมนูญ ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องใช้เวลายาวนานเกือบ 4 ปี เริ่มจากตั้งต้นร้องไปที่ผู้ตรวจการแผ่นดิน จนกระทั่งผู้ตรวจการแผ่นดิน มีคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2562 ว่าแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย หรือ PDP ปี 2561-2580 ไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ เมื่อส่งเรื่องไปยัง ครม.พิจารณา ก็ใช้เวลานานถึง 3 ปี จบที่การเพิกเฉยต่อคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดิน 28 มิถุนายนปีที่แล้ว มีมติเห็นชอบให้กระทรวงพลังงานดำเนินการตามยุทธศาสตร์กระทรวงพลังงานและแผน PDP ฉบับที่ผู้ตรวจการแผ่นดินเห็นว่ามีปัญหา เดินหน้าส่งเสริมเอกชนผลิตไฟฟ้าทำให้สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ. เหลือแค่ 32% เท่านั้น แต่เมื่อมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ก็ถือเป็นข้อยุติที่ทุกฝ่ายต้องปฏิบัติตาม

ในปัจจุบัน ค่าไฟฟ้าบ้านยังตรึงไว้ที่ 4 บาท 72 สตางค์ ต่อหน่วย ส่วนค่าไฟฟ้าภาคเอกชน อยู่ที่ 5 บาท 33 สตางค์ ต่อหน่วย โดยจะคงราคานี้ไปจนถึงสิ้นเดือนเมษายน เรียกว่าต้องลุ้นกันทุกสี่เดือน และยังมีการบ้านอีกหลายอย่างที่ภาคเอกชนฝากถึงรัฐบาล เพื่อลดที่ต้นทุน ให้ราคาค่าไฟฟ้าลดลง ไม่ใช่แค่เอกชนจ่ายถูก แต่เป็นห่วงโซ่ธุรกิจที่ส่งผลไปทั้งระบบให้ไม่ต้องจ่ายแพงตามไปด้วย

ขณะที่ภาคประชาสังคม ที่รวมตัวกัน 148 องค์กร ชง 5 ข้อเสนอถึงรัฐบาล ให้แก้ปัญหาค่าไฟฟ้าแพงมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ก็เตรียมขยับทวงถามข้อเรียกร้องเร็ว ๆ นี้

ปัญหาเชิงนโยบาย ที่มากมายไปด้วยคำถาม ยังไร้คำตอบที่ชัดเจนจากภาครัฐ จะปรับเปลี่ยนได้หรือไม่ ยังไม่มีใครรู้ โครงสร้างที่เป็นอยู่ตอบโจทย์ชาติ ประชาชน หรือ เอื้อเอกชน ก็ยังมีข้อกังขา