เครื่องกระตุกหัวใจ (AED) หายใน กทม.

View icon 40
วันที่ 25 ม.ค. 2566 | 11.37 น.
ห้องข่าวภาคเที่ยง
แชร์
ห้องข่าวภาคเที่ยง - ทีมข่าว7HD ลงพื้นที่ตรวจสอบจุดติดตั้ง เครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าอัตโนมัติ หรือ AED ที่ป้อมตำรวจจราจร พบบางแห่งเหลือแต่ตู้ ไม่มีตัวเครื่องแล้ว ซึ่งก่อนหน้านี้เพจดังชี้เป้า ทั่วกรุงเทพมหานคร เครื่อง AED ในพื้นที่สาธารณะ หายไปแล้ว 27 เครื่อง

เพจ Drama-addict โพสต์ข้อความ "เครื่อง AED" หรือ "เครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ” ที่มีวางไว้ตามจุดต่าง ๆ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร สำหรับช่วยชีวิตผู้ป่วยจากภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน ถูกมือดีขโมยไป 27 เครื่อง มูลค่ารวม 1.8 ล้านบาท

ทีมข่าว 7HD ลงพื้นที่บริเวณป้อมจราจรแยกราชดำริ พบตู้ใส่เครื่อง AED แต่พอเปิดดู ไม่พบเครื่องอยู่ภายใน ซึ่งเจ้าหน้าที่ บอกว่า เป็นอีกหนึ่งจุด ที่เครื่องหายไป และบริเวณนี้ก็มีกล้องวงจรปิดติดตั้งอยู่ และมีผู้คนพลุกพล่าน สามารถมองเห็นเครื่องนี้ได้ง่าย ส่วนอีก 1 จุดบริเวณป้อมจราจร แยกศาลาแดง พบว่า ภายในตู้ยังมีเครื่อง และอุปกรณ์อยู่ครบ สภาพพร้อมใช้งาน

พอตรวจสอบจากแอปพลิเคชัน AED กระตุกหัวใจ ซึ่งจะเป็นแผนที่แสดงจุดที่ติดตั้งเครื่อง AED ไว้ ตามจุดสำคัญต่าง ๆ ก็พบว่า หลายจุดขึ้นสีเทา แสดงสถานะกำลังซ่อมแซม แต่เจ้าหน้าที่บอกว่า สถานะนี้ หมายถึงเครื่องหายไป

นายแพทย์ธนดล โรจนศานติกุล หัวหน้าศูนย์กู้ชีพ ฝ่ายเวชศาสตร์ฉุกเฉิน โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ให้ข้อมูลว่า จุดประสงค์หลักที่มอบเครื่อง AED ให้กับหน่วยงานต่าง ๆ ต้องการให้ติดตั้งในที่สาธารณะ เพื่อเพิ่มโอกาสรอดชีวิต ของผู้ป่วยหัวใจหยุดเต้นฉับพลัน โดยในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ได้มอบให้ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ นำติดตั้งตามสถานีตำรวจ และป้อมจราจรตามแยกต่าง ๆ ที่มีผู้คนจำนวนมาก เพราะตามหลักการ ต้องเป็นจุดที่เข้าถึงได้ง่าย ตลอด 24 ชั่วโมง ไม่ถูกล็อกกุญแจ ต้องไม่ถูกเก็บไว้ในสำนักงาน เพื่อให้ประชาชนทุกคนพร้อมหยิบไปใช้งาน ช่วยชีวิตผู้ป่วย ขณะนี้ติดตั้งแล้วเสร็จ 255 เครื่อง ราคาเรื่องละ 69,900 บาท

โดยจากการศึกษา พบว่า คนไข้ที่หัวใจหยุดเต้นฉับพลัน ถ้ามีเครื่อง AED อยู่ในที่เกิดเหตุ มีโอกาสรอดชีวิตมากกว่า การที่รถพยาบาลไปถึง หรือ นำตัวผู้ป่วยมาที่โรงพยาบาล ซึ่งจะต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร คุณหมอวอนผู้ที่พบเห็นเครื่องที่ถูกขโมยไป หากช่วยกันติดตามกลับมาได้ ก็จะช่วยชีวิตคนได้อีกมาก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง