เร่งติดตามเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าฯ อีก 21 เครื่องคืน

View icon 25
วันที่ 27 ม.ค. 2566 | 07.08 น.
สนามข่าว 7 สี
แชร์
สนามข่าว 7 สี - หลังจากที่เครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าอัตโนมัติ 27 เครื่อง จากที่มีการติดตั้งในพื้นที่สาธารณะ กรุงเทพฯ 255 เครื่องหายไป ตำรวจไปติตดามจับกุมอาสาสมัครกู้ภัย 2 กลุ่ม ที่ขโมยไปขาย ยึดของกลางคืนมาได้แล้ว 6 เครื่อง ส่วนที่เหลือ 21 เครื่อง อยู่ระหว่างตามหา

หลังจากที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ออกมายอมรับว่า เครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าอัตโนมัติ หรือ AED ที่ติดตั้งอยู่ในพื้นที่สาธารณะ และบริเวณป้อมตำรวจจราจร ได้หายไป 27 เครื่อง จากที่มีการติดตั้งแล้ว 255 เครื่อง ต่อมา ตำรวจสืบสวนสอบสวน กองบัญชาการตำรวจนครบาล ก็ไปติดตามจับกุมคนร้ายที่ลักเอาเครื่อง AED ไปได้แล้ว 2 คน เป็นอาสาสมัครกู้ภัยแห่งหนึ่ง โดยไปจับกุมที่ย่านบางบอน กรุงเทพฯ ยึดของกลางเครื่อง AED คืนได้ 4 เครื่อง ส่วนผู้ต้องหาอีกกลุ่มก็ไปติดตามจับกุมได้ที่จังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นอาสาสมัครกู้ภัยเช่นกัน ยึดเครื่อง AED คืนมาได้ 2 เครื่อง รวมเป็น 6 เครื่อง

พลตำรวจโท ธิติ แสงสว่าง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล และ พลตำรวจตรี ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ผู้บังคับการกองบังคับการสืบสวนสอบสวน กองบัญชาการตำรวจนครบาล ได้ไปสอบปากคำผู้ต้องหา ทำให้ทราบถึงพฤติการณ์ว่า ได้ตระเวนก่อเหตุไปแล้ว 6 แห่ง ครั้งแรกเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2565 ก่อเหตุที่บริเวณป้อมตำรวจจราจรแยกวรจักร ถัดมา 6 วัน ไปก่อเหตุที่บริเวณป้อมตำรวจจราจรซอยเจริญกรุง 43 หลังปีใหม่ก็ไปก่อเหตุเพิ่มอีก 4 แห่ง ครั้งสุดท้ายก่อนถูกจับไปก่อเหตุที่บริเวณป้อมตำรวจห้าแยกหมอมี เมื่อได้เครื่อง AED ก็จะนำไปโพสต์ขายหรือบอกปากต่อปาก ในราคา 12,000-15,000 บาท ส่วนราคาจริง ๆ ของเครื่องนี้จะอยู่ที่ประมาณ 70,000 บาท

ส่วน 21 เครื่องที่เหลือ ตำรวจบอกว่าอยู่ระหว่างประสานสภากาชาดไทย เพื่อขอจุดที่หายและหมายเลขเครื่อง ขณะที่ ว่าที่ร้อยตรี การันต์ ศรีวัฒนบูรพา ผู้ช่วยโฆษกสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ หรือ สพฉ. เตือนไปยังสถานประกอบการ บริษัท ห้างร้าน ที่รับซื้อเครื่อง AED หรือผู้ที่จะซื้อเครื่องมือสองมาใช้ ก่อนซื้อควรตรวจสอบหมายเลขเครื่องกับแอปพลิเคชัน "AED กระตุกหัวใจ" เพื่อจะได้ไม่ตกเป็นผู้ต้องหาในคดีรับซื้อของโจร

ข่าวที่เกี่ยวข้อง