สนามข่าว 7 สี - คุณผู้ชมเคยได้มีโอกาสชิม "น้ำอ้อยก้อน" กันไหม ของกินดั้งเดิมที่มีเสน่ห์ตรงความหอม หวานจากธรรมชาติ ขั้นตอนและวิธีทำน้ำอ้อยเมืองน่าน ทำอย่างไร ไปติดตามชมพร้อมกันใน "กล้าลองกล้าลุย"
วันนี้ผมขอพาคุณผู้ชมทุกท่าน ขึ้นเหนือมาที่บ้านเกิดของผมเอง วันนี้จะพามาดูเบื้องหลังของภูมิปัญญาแบบดั้งเดิม ที่มีมานานนับร้อยปี กับการผลิตของหวานหอมจากธรรมชาติ เป็นผลิตภัณฑ์จากต้นอ้อยเหล่านี้
วันนี้เราอยู่กันที่ ศูนย์เรียนรู้วิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ ที่บ้านหนองเงือก ในตำบลแงง อำเภอปัว โดยมีพ่อวิง พาเราดูแต่ละขั้นตอน ซึ่งงานแรกที่ต้องทำ คือ งานคันตามเนื้อตามตัว ซึ่งก่อนจะได้อ้อยมาทำแบบนี้ เราเริ่มงานกันตั้งแต่ฟ้ายังไม่สว่าง
หลายคนอาจจะสงสัยกัน ทำไมงานตัดอ้อย ต้องเริ่มกันตั้งแต่เช้ามืด ก็เพราะว่าแต่ละวันจะมีออเดอร์เข้ามาตลอด ดังนั้นต้องรีบตัด รีบทำ เพื่อนำไปผลิตน้ำอ้อยให้ทันเวลาในช่วงบ่าย งานนี้ตัดไป คันไป
อ้อยที่เราตัด พ่อวิงบอกว่า จะต้องกะระยะความแก่เป็น เพราะถ้าใช้อ้อยที่อ่อนเกินไป น้ำอ้อยที่ได้ ก็จะไม่เป็นก้อน
อ้อยที่ตัดได้ ก็จะนำมาหนีบต่อด้วยเครื่องหนีบ เพื่อแยกเอาแต่น้ำ คนเหนือก็จะเรียกกันว่า การหีบอ้อย สมัยก่อนใช้แรงงานจากสัตว์เลี้ยงเป็นตัวช่วยหมุนเฟือง หรือถ้าไม่มี ก็ต้องแรงงานคนนี่แหละ กว่าจะได้น้ำอ้อยสด ๆ ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย
น้ำอ้อยที่ได้ จะกรองเอาเศษไม้ เศษเปลือกอ้อยออกก่อน จากนั้นก็นำมาเคี่ยวต่อด้วยไฟแรง และเคี่ยวแบบนี้นาน 3-4 ชั่วโมงเลย ระหว่างนี้ต้องคนตลอด พร้อมกับตักฟองด้านบนออก ซึ่งฟองที่เห็น ยิ่งตักออกได้เยอะเท่าไหร่ ก็จะทำให้น้ำอ้อยสะอาด และมีสีสวยมากเท่านั้น
ผ่านไปจนครบชั่วโมง น้ำอ้อยจะเปลี่ยนสี เริ่มหนืด เหนียว พร้อมกับมีสีเข้มขึ้น พ่อวิงบอกว่า ช่วงนี้ต้องอย่าให้คลาดสายตา เพราะถ้าไม่ระวัง ที่ทำมาทั้งหมดจะสูญเปล่า เพราะน้ำอ้อยอาจไหม้ได้
ภูมิปัญญาของการทำน้ำอ้อย มีมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษแล้ว แต่สำหรับทางเหนือ จะนิยมแปรรูปทำน้ำอ้อยก้อน คือ ตักมาวาง เพื่อให้แห้งกลายเป็นก้อนแบบนี้
เมื่อน้ำอ้อยแห้งดีแล้ว ก็จะจัดเรียงใส่ถุง พร้อมขายต่อ ในราคาไม่แพง ถุงละไม่กี่สิบบาทเอง ทุกวันนี้น้ำอ้อยสามารถนำไปใช้ประกอบอาหาร เป็นของให้ความหวานจากธรรมชาติได้อีกหลายอย่าง ฝากอุดหนุนอีกหนึ่งวิถีชุมชน ที่ตั้งใจทำผลิตภัณฑ์คุณภาพดีเหล่านี้ด้วย