นายจุรินทร์ ประกาศนับหนึ่งเจรจา FTA ไทย-อียูสำเร็จ สร้างแต้มต่อ "สินค้า-บริการ-ลงทุน" ให้กับประเทศ หลังพักนาน 10 ปี ประชุมนัดแรก ก.ค. 2566 โดยประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ เปิดเผยภายหลังหารือกับรองประธานคณะกรรมาธิการยุโรปด้านเศรษฐกิจ และกรรมาธิการยุโรปด้านการค้า นายวัลดิส ดอมบรอฟสกิส ผ่านระบบวิดีโอ คอนเฟอร์เรนซ์ เพื่อเริ่มเปิดการเจรจานับหนึ่ง FTA ไทยกับสหภาพยุโรป
รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า วันนี้ถือเป็นวันประวัติศาสตร์ของ 2 ฝ่าย ระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป 27 ประเทศ ที่ได้ประกาศนับหนึ่งอย่างเป็นทางการเริ่มต้นเจรจาความตกลงการเขตค้าเสรี (FTA) ระหว่างไทย-อียูอีกครั้ง ซึ่งเกิดจากความพยายามของไทยกับสหภาพยุโรปร่วมกัน ภายหลังจากที่มีปัญหาติดขัดมาตลอดเกือบ 10 ปี
ทั้งนี้ ไทยและอียู ตั้งเป้าทำข้อตกลง FTA ร่วมกันให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี หรือปี 2568 ทั้งในหัวข้อการค้าสินค้า บริการ และการลงทุนระหว่างกัน ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจแก่ทั้ง 2 ฝ่าย
นายจุรินทร์ กล่าวว่า ประโยชน์ที่ชัดเจนที่ไทยจะได้รับจากการทำ FTA กับอียูในครั้งนี้ ได้แก่
1. เมื่อมีผลบังคับใช้ ภาษีการส่งออกสินค้าไทยไปสหภาพยุโรป 27 ประเทศในที่สุดจะเป็นศูนย์ ทำให้สินค้าไทยสามารถแข่งขันด้านราคาและมีแต้มต่อกับประเทศที่ไม่ได้ทำ FTA กับอียู เช่น ยานยนต์และส่วนประกอบ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เสื้อผ้าสิ่งทอ อาหาร ยางพารา เคมีภัณฑ์และพลาสติก เป็นต้น
2. ภาคบริการ จะได้สิทธิพิเศษ ที่ไทยมีความเชี่ยวชาญในภาคบริการหลายด้าน เช่น ค้าส่ง-ปลีก การผลิตอาหารและการท่องเที่ยว เป็นต้น
3. การนำเข้าวัตถุดิบในอัตราภาษีศูนย์ ช่วยลดต้นทุนให้กับภาคการผลิตของไทยได้ โดยเฉพาะการนำเข้าเครื่องจักรอุปกรณ์และเคมีภัณฑ์
4. การแลกเปลี่ยนการลงทุนระหว่างกันของทั้ง 2 ฝ่าย ทำให้ไทยจะได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัย
5. มีส่วนสำคัญในการดึงดูดนักลงทุนจากทั่วโลกให้เข้ามาลงทุนในไทย เพิ่มยอดการลงทุน และช่วยเพิ่ม GDP ให้ประเทศ
6. ไทยจะมีข้อตกลง FTA เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่มีอยู่ 14 ฉบับ กับ 18 ประเทศ ซึ่งจะทำให้กลายเป็น 15 ฉบับ กับ 45 ประเทศ โดยไทยถือเป็นประเทศที่ 3 ในอาเซียน ที่สหภาพยุโรปตกลงทำ FTA ด้วย
ทั้งนี้ สหภาพยุโรป 27 ประเทศ มีประชากรรวมกันประมาณ 500 ล้านคน เป็นคู่ค้าสำคัญลำดับที่ 4 ของไทย สัดส่วนมูลค่าการค้า 7% ของปริมาณการค้าระหว่างประเทศของไทย
"การทำ FTA กับอียู ที่ได้นับหนึ่งอย่างเป็นทางการในวันนี้ ถือเป็นวันประวัติศาสตร์ เป็นประโยชน์อย่างยิ่งทั้งกับไทยและกับอียู จากนี้จะเริ่มต้นการเจรจาระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสในเดือนกรกฎาคมปีนี้ โดยไทยจะเป็นเจ้าภาพครั้งแรก และเมื่อได้ข้อตกลงครบทุกหัวข้อประเทศไทยจะนำเข้าที่ประชุมรัฐสภาต่อไป เพื่อให้สัตยาบัน ซึ่งฝั่งอียูก็จะดำเนินการเช่นเดียวกัน เพื่อจะลงนามบังคับใช้ได้
ภายหลังการประชุม นายวัลดิส ดอมบรอฟสกิส รองประธานคณะกรรมาธิการยุโรปด้านเศรษฐกิจ และกรรมาธิการยุโรปด้านการค้าได้โพสต์ผ่านทวิตเตอร์ Valdis Dombrovskis ทันที ความว่า "อียู-ไทย ฟื้นการเจรจาข้อตกลงทางการค้า โดยยินดีอย่างยิ่งต่อการฟื้นการเจรจากับไทย ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 2 ในอาเซียน ความตกลง FTA ไทย-อียูที่ทันสมัย มีพลวัต จะเป็นประโยชน์กับทั้งสองฝ่าย จะเสริมสร้างและขยายความสัมพันธ์ทางการค้าของอียูกับภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก"