เจาะประเด็นข่าว 7HD - รู้เรื่องเมืองไทย Siam Insight วันนี้จะพาไปดูการแข่งขันนกเขาชวาเสียงอาเซียน ที่จังหวัดยะลา ซึ่งได้รวบรวมนกเขาชวาจากทั่วทุกสารทิศมาแข่งขันกัน และจัดติดต่อกันมาเป็นปีที่ 36 แล้ว ติดตามจากคุณอรรถพล ดวงจินดา
การเลี้ยงนกเขาชวา เป็นที่นิยมของคนภาคใต้มานานแล้ว แม้ว่าในอดีต การเล่นนกเขาชวา จะอยู่แค่วงจำกัดกลุ่มคนชั้นนำในราชสำนัก ข้าราชบริพาร รวมถึงขุนนางคหบดี ที่เลี้ยง และนำนกที่เลี้ยงไว้มาแข่งขันกันเป็นครั้งคราว แต่ปัจจุบัน กลุ่มคนเลี้ยงนกเขาชวา มีหลากหลาย กระจายไปทั่ว และยังรวมตัวกันเป็นชมรม ยกระดับเป็นสมาคม และเลี้ยงกันเป็นธุรกิจ โดยซื้อขายกันตั้งแต่หลักพัน ไปถึงหลักล้านบาททีเดียว
อย่างที่จังหวัดยะลา ชายแดนภาคใต้ของไทย ที่มีป่าไม้ธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ และมีนกสายพันธุ์ดี ๆ จึงเป็นแหล่งรวมนกเขาชวาสายพันธุ์เด่น ที่เหล่าคนเล่นนกรู้กัน และต่างก็จะมาเสาะแสวงหาสายพันธ์ุ โดยเฉพาะจะมาหากันในสนามแข่งระดับอาเซียนไปไว้ครอบครอง
สนามแข่งที่นี่ จัดการแข่งขันต่อเนื่องมาถึง 36 ปี นับตั้งแต่ปี 2529 กลายเป็นที่รู้จักของกลุ่มชาวชวาวงศ์ หรือกลุ่มผู้เลี้ยงนกเขาชวาจากทั่วโลก สนใจส่งนกเขาชวาของตัวเองเข้าประกวด โดยในปีนี้ ส่งนกเขาชวาเข้าแข่งขันมากกว่า 2,000 นก
ส่วนสาเหตุที่งานนี้เรียกสรรพนามของนกเขาชวา ว่า "นก" ไม่เรียกว่า "ตัว" นั้น เพราะให้เกียรติ ที่เป็นสัตว์เลี้ยงของคนในวังในอดีต และตามความเชื่อของคนโบราณ เชื่อว่าเป็นนกให้โชคให้ลาภ
ส่วนกติกาการแข่งขันก็เป็นสากล เพราะมีคณะกรรมการที่เชี่ยวชาญฟังเสียงนก มากกว่า 20 คน มาตัดสิน ทำให้นกที่ได้รับรางวัล ไม่ว่าจะเสียงเล็ก เสียงกลาง หรือเสียงใหญ่ มีมูลค่าตัวเพิ่มขึ้น เป็นพ่อพันธุ์นก ที่กลุ่มชาวชวาวงศ์ และคนเล่นนกทั่วโลกต้องการ
การเลี้ยงนกเขาชวา จึงไม่ใช่แค่ความเพลิดเพลิน แต่ปัจจุบันภาครัฐยังได้เข้ามาเผยแพร่ วิถีการเลี้ยงและการแข่งขันนก เพื่ออนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น ช่วยยกระดับรายได้ของผู้เลี้ยงนกเขาชวาในภูมิภาคอาเซียน มาแล้วในหลากหลายรุ่น