คอลัมน์หมายเลข 7 : คลี่ปมทุจริตทดสอบวัสดุวิทยาลัยเทคนิคฯ ใน จ.ชัยภูมิ

View icon 379
วันที่ 28 มี.ค. 2566 | 20.10 น.
ข่าวภาคค่ำ
แชร์
ข่าวภาคค่ำ - คอลัมน์หมายเลข 7 ยังตามต่อกับกรณีร้องเรียนการทุจริตทดสอบวัสดุ ซึ่ง คุณอนันตชัย วัชรเสถียร ลงพื้นที่ไปติดตามข้อเท็จจริง และพบข้อมูลที่น่าสังเกต ทั้งเรื่องเงินส่วนต่างที่หายไป และข้อมูลจากนักเรียนในวิทยาลัยเทคนิคฯ บอกว่า ไม่เคยได้รับเงินตามคำชี้แจง ติดตามจากรายงาน 

เครื่องทดสอบลูกปูน 2 เครื่อง ใช้ได้ 1 เครื่อง พัง 1 เครื่อง ส่วนเครื่องดึงเหล็กที่มีอยู่ 1 เครื่อง ไม่สามารถใช้งานกับโครงการที่เข้ามาทดสอบมากกว่า 30 โครงการต่อ 1 เดือน เป็นเวลานานกว่า 1 เดือนแล้ว

คือคำบอกเล่าของอาจารย์ประจำแผนกก่อสร้าง วิทยาลัยเทคนิคแห่งหนึ่งในจังหวัดชัยภูมิ ขณะที่ คอลัมน์หมายเลข 7 ลงพื้นที่ติดตามสอบถามกรณีร้องเรียนการทุจริตทดสอบวัสดุ ซึ่งมีการกล่าวอ้างพาดพิงผู้บริหาร และอาจารย์วิทยาลัยเทคนิคฯ ยักยอกเงินส่วนต่าง ก่อนจะมีคำอธิบายบอกว่าเป็นเรื่องราวเข้าใจผิด โดยกรณีเงินส่วนต่างที่หายเป็นเงินที่บริษัทผู้รับเหมาค้างชำระ พร้อมส่งเอกสารหลักฐานให้กับหน่วยงานตรวจสอบแล้ว แต่ข้อมูลนี้ก็ย้อนแย้งกับผู้ร้องเรียน

ท่ามกลางเสียงอธิบายของผู้ถูกกล่าวหา และข้อสังเกตของผู้ร้อง ยังมีข้อมูลจากกลุ่มนักเรียนที่มีส่วนร่วมทดสอบในรายวิชาที่น่าสังเกต โดยเฉพาะประเด็นรายได้จากการทดสอบวัสดุ ซึ่งนักเรียนจะต้องได้รับเงินค่าส่วนต่างด้วย แต่พวกเขากลับบอกว่าไม่เคยรู้เรื่อง และที่ผ่านมาก็ไม่เคยมีใครได้รับเงินค่าส่วนต่าง

ที่น่าสนใจเพิ่มเติมคือ ข้อมูลนี้ยังสอดคล้องกับอาจารย์บางราย ซึ่งเปิดเผยว่า เงินส่วนแบ่งที่ต้องให้กับนักเรียน ไม่ได้มีการให้จริง เนื่องจากจำนวนเงินที่มีน้อย จึงนำมาไว้เพื่อใช้จ่ายในแผนกแทน

ในขณะที่เมื่อย้อนดูเส้นทางขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งเริ่มจากหน่วยงานท้องถิ่น เซ็นสัญญาการก่อสร้างถนนคอนกรีตกับผู้รับเหมา โดยในสัญญาจะมีการกำหนดคุณภาพชัดเจน เช่น ความแข็งแรงของถนนคอนกรีต หรือความเหนียวแน่นของเหล็ก

โดยท้องถิ่น หรือ ผู้รับเหมา ต้องนำตัวอย่างวัสดุการก่อสร้างถนนให้กับหน่วยงานที่มีใบอนุญาต และเครื่องมือทดสอบรับรอง เช่น วิทยาเทคนิค หรือหน่วยงานของกรมทางหลวง เพื่อส่งหนังสือยืนยันคุณภาพกลับไปให้หน่วยงานท้องถิ่น ซึ่งกรณีนี้ อาจารย์หัวหน้าแผนกจะเป็นผู้รับผิดชอบเรื่องเก็บค่าบริการจากผู้รับเหมา จึงน่าสนใจว่าหากการออกใบรับรองผลทดสอบวัสดุ ไม่ได้มีการทดสอบจริง เพราะเอื้อประโยชน์ต่อผู้รับเหมา ซึ่งรับจ้างทำโครงการให้กับรัฐ แล้วเกิดความเสียหาย ใครจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ

ในหลายงานก่อสร้างเพื่อพัฒนาท้องถิ่นล้วนเกี่ยวข้องกับเงินงบประมาณของแผ่นดินและภาษีของประชาชน ซึ่งในหลายครั้งมักจะพบว่าหลังสร้างเสร็จไม่นานก็พังและทรุดตัวง่าย คอลัมน์หมายเลข 7 จึงนำเรื่องนี้หารือกับทาง ป.ป.ท. ส่วนกลาง ทราบว่าเวลานี้กำลังมีการตรวจสอบความผิดปกติโครงการก่อสร้างถนน ๆ ต่างทั่วประเทศ เพื่อป้องปรามความเสียหาย

ในแต่ละปี รัฐจัดสรรงบประมาณจำนวนมาก เพื่อใช้ในการพัฒนา ซึ่งหวังให้มีการใช้อย่างคุ้มค่า และเกิดประโยชน์กับประชาชน แต่ที่ผ่านมาก็มักจะมีข้อมูลพฤติกรรมการแสวงหาประโยชน์

ถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่การควบคุมสมบัติมาตรฐาน การเดินหน้าตรวจสอบป้องปรามและปราบปรามการทุจริต ตั้งแต่ต้นทางจนปลายทางจะทำได้เห็นผลจริง เพราะในทุกความเสียหายที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจำนวนเท่าไหร่ ก็คือเงินงบประมาณและภาษีของประชาชน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง