ประเด็นเด็ดเศรษฐกิจ : แนะชาวนา ร้อนนี้ ปลูกพืชใช้น้ำน้อยแทนนาปรัง

View icon 48
วันที่ 28 มี.ค. 2566 | 22.33 น.
ประเด็นเด็ด 7 สี
แชร์
ประเด็นเด็ด 7 สี - เป็นไปได้ว่า ปีนี้ประเทศไทย อาจจะต้องเผชิญภาวะภัยแล้ง ล่าสุด กระทรวงเกษตกรและสหกรณ์ ขอความร่วมมือชาวนา งดทำนาปรังรอบ 2 ติดตามในประเด็นเด็ดเศรษฐกิจ

ช่วงนี้หลายพื้นที่อากาศร้อนอบอ้าวมาก ๆ กระทรวงเกษตกรและสหกรณ์ แจ้งเตือนพี่น้องเกษตกรในพื้นที่ 13 ขอความร่วมมืองดทำนาปรังรอบที่ เพราะเสี่ยงมากที่จะขาดทุน และพืชขาดน้ำ

โดยขณะนี้ กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ส่งเจ้าหน้าที่เร่งทำความเข้าใจและแนะขอความร่วมมือ เกษตกรในพื้นที่ 13 จังหวัด มีจังหวัดอะไรบ้าง ได้แก่ จังหวัด ระยอง, ชลบุรี, นครสวรรค์, พิจิตร, ชัยนาท, นนทบุรี, ปทุมธานี, พระนครศรีอยุธยา, สิงห์บุรี, ฉะเชิงเทรา, นครปฐม, สมุทรสาคร และสุพรรณบุรี ไม่ให้​ทำนาปรัง​รอบที่​ 2 เพราะหากเกษตรกรเพาะปลูกข้าวนาปรังรอบที่ 2 ต่อเนื่องทันที จะส่งผลกระทบต่อการใช้น้ำของข้าวที่อยู่ระหว่างการเพาะปลูก และจะกระทบต่อปริมาณน้ำต้นทุนของลุ่มเจ้าพระยาด้วย ตอนนี้เราจำเป็นต้องช่วยกันรักษาระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาและระบบชลประทานไว้ เพื่อลดความเสี่ยงที่จะขาดแคลนน้ำ เพราะหากน้ำไม่เพียงพอ ไม่เพียงแต่พืชต้องยืนต้นตาย ยังจะส่งผลเสียต่อระบบนิเวศน์จากภาวะน้ำเค็มรุกท้ายลุ่มเจ้าพระยา

มาดูข้อมูลจากการแถลง "การเข้าสู่ฤดูร้อนของประเทศไทย ประจำปี พ.ศ. 2566" เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2566 กรมอุตุนิยมวิทยา คาดว่าประเทศไทยตอนบน จะมีฝนใกล้เคียงค่าปกติ ภาคใต้ปริมาณฝนจะมากกว่าค่าปกติเล็กน้อย และอาจเกิดสภาวะฝนทิ้งช่วงในปลายเดือนมิถุนายน และต้นเดือนกรกฎาคม 2566

โดย​กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีนโยบายส่งเสริมการปลูกข้าวปีละไม่เกิน 2 รอบ ได้แก่ การปลูกข้าวนาปี ช่วงตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม ถึง 31 ตุลาคม และการปลูกข้าวนาปรัง เริ่มตั้งแต่ วันที่ 1 พฤศจิกายน ถึง 30 เมษายน ซึ่งหากมีการปลูกข้าวอีก ก็จะเป็นนาปรังรอบที่ 2 หรือรอบที่ 3 ของปี ซึ่งจากสถานการณ์การเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ในส่วนของการเพาะปลูกข้าวรอบที่ 2 พบว่า มีการเพาะปลูกข้าวไปแล้วกว่า 12 ล้านไร่ หรือคิดเป็น 90% ของแผนการปลูกข้าว โดยแบ่งเป็นในเขตชลประทานกว่า 9,000,000 ไร่ และนอกเขตชลประทานกว่า 2,600,000 ไร่ เก็บเกี่ยวแล้ว 1.97 ล้านไร่ และเกษตรกรจะทยอยเก็บเกี่ยวข้าวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา เพื่อรักษาระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยา และระบบชลประทาน ลดความเสี่ยงที่จะขาดแคลนน้ำ

ทั้งนี้ การพักนาไม่ปลูกข้าวอย่างต่อเนื่องนั้น มีประโยชน์และผลดีหลายด้าน ได้แก่ ช่วยลดความเสี่ยงที่จะขาดทุน เนื่องจากต้นข้าวยืนต้นตาย เพราะขาดน้ำ ช่วยลดปัญหาการขาดแคลนน้ำในภาพรวมของประเทศ เป็นการพักดินเพื่อลดปัญหาการสะสมของโรค และแมลงศัตรูข้าว โดยเกษตรกรสามารถปลูกพืชปุ๋ยสดแทน เพื่อปรับปรุงดินให้ดีขึ้น เช่น ปอเทือง, ถั่วพร้า, ถั่วพุ่ม, โสนอัฟริกัน, ถั่วเขียว หรือพืชตระกูลถั่วต่าง ๆ ซึ่งสามารถช่วยลดต้นทุนการผลิตด้านการใช้ปุ๋ยในฤดูกาลผลิตถัดไปได้ และหากเกษตรกร พอจะมีแหล่งน้ำของตนเอง หรือแหล่งน้ำอื่น ๆ ที่ประเมินแล้วว่าเพียงพอต่อการปลูกพืชใช้น้ำน้อยได้ ก็สามารถเลือกปลูกพืชที่มีตลาดรองรับในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ก็ได้ราคาดี นอกจากนี้อาจเป็น ถั่วเขียว, ถั่วเหลือง, ถั่วเหลืองฝักสด และถั่วลิสง หรือ กลุ่มพืชสมุนไพร ก็ได้เช่นกัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง