แบนสุพรรณหงส์ คนสายหนังแห่ถอนตัว ประท้วงเกณฑ์ตัดสินใหม่

View icon 17
วันที่ 31 มี.ค. 2566 | 06.41 น.
เช้านี้ที่หมอชิต
แชร์
เช้านี้ที่หมอชิต - ร้อนแรงสนั่นโซเชียลจนติดเทรนด์ทวิตเตอร์ สำหรับ #แบนสุวรรณหงส์ รางวัลที่มอบให้แก่บุคคลในวงการผลิตภาพยนตร์ไทย ซึ่งอยู่คู่กับวงการบันเทิงและสังคมไทยมาอย่างยาวนาน แต่เมื่อวานนี้หลายคนในวงการต่างพากันประกาศถอนตัว หรือประกาศคืนรางวัล ประเด็นนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร เราจะมาขยายความเรื่องนี้กัน

รางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ สุพรรณหงส์ หรือรางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ มีพิธีมอบรางวัลนี้เป็นครั้งแรก เมื่อปี 2535 จัดโดยสมาพันธ์ภาพยนตร์แห่งชาติ ถือเป็นรางวัลอันทรงเกียรติ สร้างความภาคภูมิใจแก่ผู้ได้รับรางวัลนี้

แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นเริ่มมาจากปีนี้ สมาพันธ์ภาพยนตร์แห่งชาติ ออกกติกาใหม่ว่า หนังที่จะได้รับการพิจารณาให้เข้าชิงรางวัลสุพรรณหงส์ ต้องมีคุณสมบัติสำคัญคือ ต้องฉายในโรงภาพยนตร์เท่านั้น และต้องฉายในโรงครบทั้ง 5 ภูมิภาค รวมถึงต้องมียอดผู้ชมไม่ต่ำกว่า 50,000 คน จึงมีข้อโต้แย้งว่า กติกาใหม่เอื้อต่อหนังที่ได้ฉายในโรงหนังเครือใหญ่เท่านั้น ส่วนหนังฟอร์มเล็ก หนังอิสระที่ไม่เข้าโรง หรือเข้าจำกัด แม้เป็นหนังที่ดี ก็จะถูกกันออกจากการพิจารณาตั้งแต่แรก ที่ผ่านมาหนังประเภทนี้ก็เคยได้รางวัลสุพรรณหงส์มาแล้วหลายเรื่อง แต่ปีนี้ถือว่าหมดสิทธิ์

ประเด็นยิ่งเดือดขึ้นอีก เมื่อมีผู้พูดถึงหนังอย่าง Anatomy of Time ที่ได้รับการยอมรับจากเทศกาลหนังทั่วโลก และเพิ่งคว้าภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจาก "คมชัดลึกอวอร์ด" แต่จะหมดสิทธิ์รับรางวัลจากเวทีนี้ จึงเป็นที่มาของการที่คนในวงการหนังพากันติด #แบนสุพรรณหงส์ และประกาศถอนตัวอย่างชัดเจน เช่น เต๋อ นวพล ผู้กำกับและเขียนบท Fast & Feel Love, คงเดช จาตุรันต์รัศมี ผู้กำกับ Faces of Anne, หนังบึงกาฬ ถอนตัวจากการถูกเสนอชื่อเข้าชิง ฯลฯ

รวมถึง จ๋าย ไททศมิตร และณัฏฐ์ กิจจริต 2 นักแสดง ซึ่งได้รางวัลสุพรรณหงส์ในครั้งก่อน จากเรื่อง 4 Kings ที่ประกาศว่า ยินดีคืนรางวัลถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลงกติกา

คุณจ๋าย ยังได้กล่าวถึงข้อเสนอเพื่อพัฒนาวงการหนังและศิลปะต่าง ๆ หรือ Soft Power ของไทย ซึ่งเป็นคำที่พูดถึงกันบ่อยด้วยว่า สิ่งที่ควรทำมาตั้งนานแล้วคือ ภาครัฐต้องเข้ามาสนับสนุน เพราะประเทศเราไม่ว่าจะเป็นวงการหนัง หรือวงการเพลงที่ตนอยู่ มันเล็กมาก นอกจากนี้คนที่มีกำลังซื้อในสิ่งเหล่านี้ก็มีไม่มาก แค่ค่าใช้จ่ายวันต่อวันและใช้ไปกับการทำมาหากิน ก็ยากแล้ว จะเอาเวลาที่ไหนไปเสพศิลปะ จึงคิดว่าหากจะขยายต่อไปในระดับเอเชียให้ได้ ภาครัฐต้องมีส่วนช่วย ไม่ว่าเงินทุน หรือช่วยให้เราไปขายในเอเชีย หากทำได้ ปัญหาเหล่านี้จะค่อย ๆ ลดน้อยลงไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง