เลือกตั้ง 2566 : กกต.ซักซ้อมลงคะแนนเลือกตั้ง สส. ป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้น

เลือกตั้ง 2566 : กกต.ซักซ้อมลงคะแนนเลือกตั้ง สส. ป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้น

View icon 225
วันที่ 3 พ.ค. 2566 | 18.47 น.
7HD ร้อนออนไลน์
แชร์
วันนี้ (3 พ.ค.66) นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พร้อมนายสำราญ ตันพานิช ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้ง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สาธิตการจัดสถานที่ออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้ง เพื่ออำนวยความสะดวกในการลงคะแนนแก่ผู้มาใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้ง ตลอดจนเป็นการป้องกันปัญหา ที่อาจเกิดขึ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.) การจัดที่เลือกตั้งเป็นหน้าที่ของกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง จึงควรดำเนินการตามความเหมาะสมของแต่ละสถานที่  พร้อมทั้งสาธิตวิธีการออกเสียงลงคะแนนเพื่อความโปร่งใสในการจัดการเลือกตั้ง

กกต.สาธิตลงคะแนนเลือกตั้ง

โดยในสถานที่ออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งนั้น จะมีองค์ประกอบและวัสดุอุปกรณ์ที่สำคัญ ประกอบด้วย  คณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.) จำนวน 9 คน เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำที่เลือกตั้ง (รปภ.) อย่างน้อยที่เลือกตั้งละ 1 คน ผู้แทนพรรคการเมือง ป้ายปิดประกาศหน้าหน่วยเลือกตั้ง คูหาออกเสียงลงคะแนนอย่างน้อย 3 คูหา วางห่างกันอย่างน้อย 0.5 เมตร และควรวางห่างจากฝาผนังหรือฝาทึบ ไม่น้อยกว่า 1 เมตร ระหว่างคูหาให้ใช้เชือกกั้นเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้มีการเดินอ้อมหลังผู้อื่น หีบบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ (หีบใส่บัตรแบบบัญชีรายชื่อ และหีบใส่บัตรแบบแบ่งเขต) ป้ายไวนิลแนะนำตัวผู้สมัครแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง และแบบบัญชีรายชื่อ ติดหน้าหน่วยเลือกตั้ง และติดภายในสถานที่ลงคะแนนออกเสียงเลือกตั้งที่เห็นเด่นชัด

ขณะเดียวกัน ยังสาธิตการอำนวยความสะดวกให้กับผู้พิการทางสายตา ได้ใช้สิทธิเลือกตั้ง โดยใช้เป็นบัตรทาบ อักษรเบล ที่ตรงกับบัตรเลือกตั้งจริงทุกประการ ให้ผู้พิการทางสายตาสามารถสัมผัสได้อย่างถูกต้องและชัดเจน  เช่นเดียวกับผู้พิการเดินไม่ได้หรือผู้สูงอายุ ก็จะมีรถเข็นวีลแชร์ และเจ้าหน้าที่คอยให้บริการพาเข้าไปในคูหาเลือกตั้งด้วย โดย กกต.ยืนยันว่าการลงคะแนนจะเป็นความลับ เพราะผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะต้องลงคะแนนด้วยตัวเอง เว้นแต่จะขอความช่วยเหลือจากกรรมการประจำหน่วย

กกต.สาธิตลงคะแนนเลือกตั้ง

อย่างไรก็ตาม กกต.ย้ำให้กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งเฝ้าระวังผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง ที่อาจจะกระทำผิดกฎหมายในคูหาเลือกตั้ง จึงได้มีการติดป้ายข้อห้ามกระทำไว้ในคูหา เช่น การห้ามถ่ายรูปบัตรที่กากบาทลงคะแนนไปแล้ว ซึ่งหากมีการกระทำเกิดขึ้น ก็จะทำให้การเลือกตั้งไม่เป็นไปโดยลับ ถือเป็นความผิดตามกฎหมาย หรือกรณีการฉีกทำลายบัตรเลือกตั้ง ก็เป็นความผิดตามกฎหมายเช่นกัน ส่วนข้อกังวลที่ว่าผู้ใช้สิทธิไม่สามารถจำหมายเลขผู้สมัครได้ กรรมการประจำหน่วยจะปิดป้ายไวนิลหมายเลขพร้อมภาพผู้สมัคร ติดตั้งไว้ในที่หน่วยเลือกตั้งให้เด่นชัด ให้เป็นที่สังเกตก่อนทำการลงคะแนน



เกาะติดทุกความเคลื่อนไหว เลือกตั้ง 66 #วาระคนไทย ได้ที่ www.ch7.com/election2566

ช่องทางโซเชียลมีเดีย
Facebook : www.facebook.com/Ch7HDNews
Twitter : www.twitter.com/Ch7HD
IG : www.instagram.com/ch7hd_news
TikTok : www.tiktok.com/@ch7hd_news
Youtube : www.bit.ly/youtubech7hd