9 ชั่วโมงลงคะแนนเสียงเลือกตั้งมีความหมาย จับตา 5 เรื่องเป็นพิเศษ

9 ชั่วโมงลงคะแนนเสียงเลือกตั้งมีความหมาย จับตา 5 เรื่องเป็นพิเศษ

View icon 115
วันที่ 14 พ.ค. 2566 | 07.49 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
9 ชั่วโมงลงคะแนนเสียงเลือกตั้งมีความหมาย ชวนประชาชนจับตา 5 เรื่องเป็นพิเศษ อย่าปล่อยให้มีบัตรเขย่ง แนะวิธีจับตาดูการนำคะแนนของ กปน.ประจำหน่วยเลือกตั้ง

วันนี้ (14 พ.ค.2566)  เฟซบุ๊ก We Watch เครือข่ายประชาชนที่เกาะติดสถานการณ์ "เลือกตั้ง 66"  ได้โพสต์ข้อความ การเลือกตั้งทั่วไปในวันนี้ แม้จะเป็นกิจกรรมทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยที่สำคัญ แต่สิ่งควรตระหนักคือ ระยะเวลาในกระบวนการสั้น หากนับตั้งแต่เปิดหีบเลือกตั้งไปจนถึงปิดหีบเลือกตั้ง ประชาชนจะมีเวลาเพียง 9 ชั่วโมง (8.00 น.-17.00 น.) ฉะนั้นทุกนาทีของการใช้สิทธิจึงมีความหมายยิ่ง

ดังนั้น  ผู้ออกมาใช้สิทธิจึงเป็นส่วนหนึ่งในการปกป้องสิทธิของตัวเองและผู้อื่นได้ โดย We Watch ได้คัดจุดสังเกต และวิธีการสังเกตการณ์การเลือกตั้ง ซึ่งมาจากข้อกังวลจากการเลือกตั้งล่วงหน้า-นอกเขต เมื่อวันที่ 7 พ.ค. ที่ผ่านมา มาเป็นบทเรียนชี้ให้เห็นจุดสำคัญในการสังเกตการณ์การเลือกตั้ง

โดยมี 5 จุด ที่จำเป็นต่อการจับตาเป็นพิเศษ เพื่อทำให้การเลือกตั้งเป็นไปอย่างยุติธรรมมากที่สุด ดังนี้
1. การหาเสียงเลือกตั้ง
เป็นข้อห้ามในการหาเสียงในวันเลือกตั้ง หากพบกิจกรรมดังต่อไปนี้สามารถรายงานเข้ามาได้ที่ We Watch ทุกช่องทาง
- การหาเสียงโดยให้หรือสัญญาว่าจะให้เงิน ทรัพย์สินหรือผลประโยชน์
- โฆษณาหาเสียงด้วยการจัดมหรสพ หรืองานรื่นเริงต่างๆ
- หาเสียงโดยจัดเลี้ยง หรือรับปากว่าจะจัดงานเลี้ยง หาเสียงโดย หลอกลวง บังคับ ขู่เข็ญ ใช้อิทธิพลคุกคาม ใส่ร้าย หรือทำให้ประชาชนเข้าใจผิด
- ทำโพล สำรวจความคิดเห็นของประชาชนโดยมีเจตนาไม่สุจริต ที่มีลักษณะเป็นการชี้นำ
- หาเสียงเลือกตั้ง นับตั้งแต่เวลา 18.00 น. ของวันก่อนวันเลือกตั้ง จนสิ้นสุดวันเลือก
- ห้ามเจ้าหน้าที่รัฐ ใช้อำนาจตามตำแหน่งหน้าที่ช่วยโฆษณาหาเสียง
กรณีนี้พบปัญหามากที่สุด ประชาชนสามารถเช็คจำนวนบัตรเลือกตั้งที่มีในหน่วย บัตรเลือกต้งที่ถูกใช้ และการรวมคะแนน ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยป้องกันการสวมสิทธิ์ในการเลือกตั้งหรือกรณี “บัตรเขย่ง”

2. รายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งและการใช้สิทธิ
- ปิดประกาศบัญชีรายชื่อฯ ไว้ที่หน่วยเลือกตั้ง หรือบริเวณใกล้เคียงหรือไม่
- เอกสารแนะนำผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขต
- ดูรายการเกี่ยวกับจำนวนบัตรเลือกตั้งที่ได้รับมาก่อนลงคะแนน (ส.ส.5/5)
- ดูการเปิดเผยรายงานผลการนับคะแนนรายหน่วยเลือกตั้ง (แบบ ส.ส.5/18)
- รายการเกี่ยวกับจำนวนบัตรเลือกตั้งเมื่อเสร็จสิ้นการออกเสียงลงคะแนน (ส.ส.5/7)

3. หน่วยเลือกตั้งและคูหาเลือกตั้ง
กรณีนี้ประชาชนสามารถตรวจสอบความเรียบร้อยตั้งแต่ก่อน-ระหว่าง-หลังใช้สิทธิ ไปจนถึงการนับคะแนนด้วยการตรวจสอบง่าย ๆ ถึงความเรียบร้อยดังนี้
- เปิดหีบบัตรเลือกตั้งเพื่อตรวจสอบและนับจำนวนบัตรเลือกตั้งทั้งหมดของหน่วยเลือกตั้ง ตอน 7.30 น.หีบบัตรเปล่าหรือไม่ ใช้สายรัดเรียบร้อยไหม (ยกเว้นกล่องแบบพลาสติก)

4.  การนับและรายงานผลคะแนน
กรณีนี้จำเป็นต้องเฝ้าจับตาการทำงานของเจ้าหน้าที่ประจำหน่วย (กปน.) ซึ่งอาจจะทำงานเหนื่อยล้ามาทั้งวัน การมีประชาชนช่วยสังเกตการณ์การนับคะแนนจะช่วยทำให้การทำงานของเจ้าหน้าที่ กปน. สมบูรณ์และลดข้อผิดพลาดได้มาก
- นับคะนนเปิดเผยและนับติดต่อกันจนเสร็จหรือไม่
- กปน. คนที่หนึ่ง มีหน้าที่หยิบบัตรทีละใบ และคลี่บัตรส่งให้ กปน. คนที่สอง
- กปน. คนที่สอง มีหน้าที่วินิจฉัยบัตรเลือกตั้ง แสดงบัตรเลือกตั้งให้ประชาชนมองเห็น และอ่าน
- บัตรดี กปน. จะอ่านว่า “ดี” และอ่านหมายเลขของผู้สมัครที่ได้คะแนนในกรณีการเลือกตั้ง แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง หรืออ่านหมายเลขของบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองที่ได้คะแนนในกรณีการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ
- ถ้าเป็นบัตรที่กาเครื่องหมายในช่อง “ไม่เลือกผู้สมัครผู้ใด” หรือ “ไม่เลือกบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองใด” กปน. จะอ่านว่า “ไม่เลือกผู้สมัครผู้ใด” หรือ “ไม่เลือกบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองใด”
- ถ้าเป็นบัตรเสีย กปน. จะอ่านว่า “เสีย” และส่งต่อให้ กปน. ไม่น้อยกว่า 2 คนลงลายมือชื่อ และเขียนหลังบัตรว่า “เสีย ” ทันทีพร้อมทั้งระบุเหตุผลว่าเป็นบัตรเสียเพราะเหตุใด
- เมื่ออ่านบัตรเลือกตั้งเสร็จแล้ว ให้ส่งบัตรให้ กปน. คนที่สี่
- กปน. คนที่สาม มีหน้าที่ขานทวนคะแนนและขีดคะแนนลงในแบบขีดคะแนน (ส.ส.5/11 หรือ ส.ส.5/11(บช))

5. ประชาชนสามารถทักท้วงต่อ กปน.
บทบาทของประชาชนนอกเหนือจากการใช้สิทธิลงคะแนน ยังสามารถทักท้วงเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้งได้ ในกรณีดังต่อไปนี้
- หากพบว่าเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานไม่ถูกต้อง หรือชัดเจน ประชาชนและผู้สังเกตการณ์สามารถทักท้วงการทำงานของ กปน. ด้วยวาจา โดยสุภาพได้
- หากทักท้วงแล้วไม่ได้รับการแก้ไข หรือไม่ได้รับคำตอบที่ถูกต้องเพียงพอที่จะคลายสงสัยได้ สามารถยื่นคำทักท้วง ตามแบบ ส.ส.5/10
- โดยสามารถขอ แบบทักท้วงการปฏิบัติหน้าที่ฯ หรือ แบบ ส.ส.5/10 ได้ที่กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง
- ถ้ามีการยื่นคำทักท้วง ตามแบบ ส.ส.5/10 เจ้าหน้าที่ต้องตรวจสอบและบันทึกคำทักท้วงพร้อมกับคำวินิจฉัยลงในรายงานเหตุการณ์ประจำที่เลือกตั้ง (ส.ส.5/6) และให้ผู้ทักท้วงและ กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง 5 คน ลงรายมือชื่อไว้เป็นหลักฐาน (และต้องลงรายมือชื่อต่อหน้าพยานไม่น้อยกว่า 2 คน)

เน้นย้ำ !
- ผู้สังเกตการณ์เลือกตั้ง ควรที่จะบันทึกเหตุการณ์ที่ทักท้วงไว้ตลอด ทั้งการจดบันทึก และบันทึกภาพถ่ายและวีดีโอ (ในกรณีที่สามารถถ่ายได้โดยไม่ถ่ายติดประชาชนที่กำลังลงคะแนน)

หากท่านใดพบปัญหาในการไปใช้สิทธิเลือกตั้งสามารถรายงานเข้ามาได้ที่ Electionwatchth โดยสามารถคลิกลิงค์นี้ได้ https://www.electionwatchth.org/public-election-report หรือแอดไลน์ @wewatchthailand (LINE Official Account ของ We Watch) เพื่อสอบถามเพิ่มเติม ลิงค์สำหรับ LINE Official Account: https://lin.ee/f2vj106


เกาะติดทุกความเคลื่อนไหว เลือกตั้ง 66 #วาระคนไทย ได้ที่ www.ch7.com/election2566

ช่องทางโซเชียลมีเดีย
Facebook : www.facebook.com/Ch7HDNews
Twitter : www.twitter.com/Ch7HD
IG : www.instagram.com/ch7hd_news
TikTok : www.tiktok.com/@ch7hd_news
Youtube : www.bit.ly/youtubech7hd