ตะลุยต่อยอด : อาชีพจากเสียงแคน สู่รายได้หลักแสนของคนรุ่นใหม่

View icon 85
วันที่ 19 พ.ค. 2566 | 07.24 น.
สนามข่าว 7 สี
แชร์
สนามข่าว 7 สี - ตะลุยต่อยอด วันนี้ น้องเกม ปราโมทย์ คำมา จะพาไปทำความรู้จัก หมอแคน ที่นำความชอบมาต่อยอดเป็นอาชีพ และหมอแคนในที่นี้ไม่ใช่หมอแคนที่เป็นคนเป่าแคนเพียงอย่างเดียว แต่เป็นหมอที่รักษาแคน (ซ่อมแซม) และผลิตแคนขายเองด้วยรายได้ต่อเดือนหลายหมื่นบาท แต่กว่าจะได้แคนแต่ละเต้าก็ไม่ง่ายเลย เพราะขั้นตอนละเอียดและซับซ้อนสุดๆ เป็นอย่างไรไปติดตามได้เลย

ตะลุยต่อยอดวันนี้ พาคุณผู้ชมเดินทางไปยังเมืองแห่งเสียงแคน ในหมู่บ้านเล็ก ๆ อย่างบ้านคำบง อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น ที่นี่มีช่างทำแคนที่หลายคนบอกว่าฝีมือดี เขาเป็นใคร ไปตามหาพร้อม ๆ กัน

นี่เป็นเรื่องปกติที่แทบทุกวันจะมีนักเป่าแคน หรือที่เรียกว่า หมอแคน มาถามหาบ้านช่างเบล ช่างทำแคนที่อายุ เพียง 33 ปี แต่ฝีมือการซ่อมแคน ทำให้หมอแคนรุ่นพ่อหลายต่อลายคนไว้วางใจ เลือกเดินทางมาที่นี่

อย่างหมอแคนคนนี้ที่มาพร้อมแคนที่พังเสียหาย เสียงเพี้ยน ช่างก็จัดการให้ทันที รอไม่กี่อึดใจก็ได้แคนพร้อมกลับไปใช้งาน

เราเริ่มตะลุยทำแคน ขั้นตอนแรกต้องคัดเลือกไม้ไผ่ให้ได้ขนาดตามต้องการ เมื่อได้ขนาดที่ต้องการก็นำไปเจาะรูตามปล้องไม้ไผ่ จากนั้นก็นำมามาลนไฟแล้วดัดให้ตรง ตัดแต่งให้ได้ขนาด นำมาเจาะรู เพื่อใส่ลิ้นแคนให้เกิดเสียง ซึ่งขั้นตอนนี้แหละครับที่ถือว่าต้องใช้ความละเอียด อย่างการตีลิ้นแคนจากวัสดุเงินและทองแดงก็ต้องใช้ทั้งแรงและความแม่นยำ งานนี้ผมขอนั่งดูอยู่ใกล้ ๆ แล้วกัน

เมื่อใส่ลิ้นแคนเรียบร้อยแล้ว ทดสอบดูว่าเกิดเสียง ก็นำมาประกอบใส่เต้าแคนที่เตรียมไว้แล้ว โดยใช้ขี้ชันโรงเป็นตัวยึดไผ่แต่ละลำ จากนั้นก็ใช้เครือใบย่านางมัดลำแคนเข้าด้วยกัน เพื่อความแข็งแรง สวยงาม และความขลัง แค่นี้ก็ได้แคน 1 เต้าแล้ว

ปัจจุบัน ช่างเบล สามารถผลิตแคนได้เฉลี่ยเดือนละ 7 ตัว ราคาขายเริ่มต้นตัวละ 4,500 บาท และออเดอร์ในปีนี้ก็ยาวไปถึงเดือนมกราคมปีหน้าแล้ว อาชีพที่ต่อยอดจากความชอบ นอกจากสร้างรายได้ ปัจจุบันยังได้เริ่มถ่ายทอดความรู้ให้คนอื่นด้วย

ใครที่สนใจอยากจะได้แคนงานฝีมือสักเต้าก็ติดต่อไปได้ ก่อนจากกัน มาถึงเมืองพระธาตุขามแก่น เสียงแคนดอกคูณทั้งที ผมขอโซโล่สักเพลงหน่อยแล้วกันนะ