สภาพัฒน์ฯ สำรวจพบคนรุ่นใหม่เลือกงานที่ชอบ ผลตอบแทนดี ชีวิตต้องสมดุล แนะผู้ประกอบการต้องปรับระบบการจ้างงานรองรับแรงงานรุ่นใหม่ แต่ต้องไม่ลืมดูแลคนรุ่นเก่า พบตลาดแรงงานขาดแคลนคนสายไอที จำนวนมาก
วันนี้ (22 พ.ค.66) นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ ได้แถลงถึงภาวการณ์จ้างงานในไตรมาสที่ 1 ปี 2566 พบว่า อัตราการจ้างงานดีขึ้นต่อเนื่อง ผู้มีงานทำอยู่ที่ 39.6 ล้านคน เพิ่มขึ้น 2.4% ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นทั้งการจ้างงานในภาคการเกษตรและนอกการเกษตร โดยเฉพาะโรงแรมและภัตตาคารที่มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับการท่องเที่ยวที่ขยายตัวดีขึ้น
ขณะที่ชั่วโมงการทำงานเข้าสู่ภาวะปกติ ภาพรวมทำงานเพิ่มขึ้นเป็น 41.1 ชั่วโมง/สัปดาห์ จากเดิมในช่วงเดียวกัน ชั่วโมงทำงานอยู่ที่ 40.8 ชั่วโมง/สัปดาห์ โดยภาคเอกชนมีชั่วโมงทำงานมากที่สุดอยู่ที่ 44.3 ชั่วโมง/สัปดาห์ โดยค่าจ้างเฉลี่ยอยู่ประมาณ 15,118 บาท/คน/เดือน ภาคเอกชนเฉลี่ยอยู่ที่ 13,722 บาท/คน/เดือน
สำหรับภาคอุตสาหกรรมที่ขาดแคลนแรงงานอยู่ในกลุ่ม ดิจิทัลและไอที เนื่องจากสังคมปรับตัวเข้าสู่ยุคดิจิทัลมากขึ้น แต่สถาบันการศึกษาผลิตบุคลากรด้านนี้ได้ประมาณ 1.4 หมื่นคนต่อปี ขณะที่ตลาดแรงงานต้องการแรงงานสายไอที มากถึง 2-3 หมื่นอัตรา ดังนั้น สถาบันศึกษาจึงต้องเร่งปรับหลักสูตรรองรับความต้องการของตลาดแรงงานให้ได้เร็วที่สุด
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของพฤติกรรมการทำงานของคนรุ่นใหม่ สภาพัฒน์ฯ ได้ติดตามและสำรวจกลุ่มเยาวชนอายุ 15-25 ปี กว่า 19,000 ตัวอย่าง พบว่าส่วนใหญ่ต้องการงานที่ตัวเองชอบ มีค่าตอบแทนสูง และให้ความสำคัญกับการสร้างสมดุลของชีวิตมากขึ้น
ดังนั้น ผู้ประกอบการ จึงต้องเร่งปรับระบบรองรับการจ้างงานคนรุ่นใหม่ โดยต้องทำด้วยความรอบคอบ และระมัดระวัง เพื่อไม่ให้กระทบกับแรงงาน หรือคนทำงานเดิมที่มีอยู่