สมาคมขนส่งฯ ภาคอีสาน หนุนรัฐบาลใหม่กวาดล้างส่วยสติกเกอร์ จ.นครราชสีมา

View icon 97
วันที่ 31 พ.ค. 2566 | 06.16 น.
เช้านี้ที่หมอชิต
แชร์
เช้านี้ที่หมอชิต - หลังจากที่ นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ว่าที่ สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ออกมาแฉเรื่องส่วยสติกเกอร์ทางหลวง วงการสิงห์รถบรรทุกก็ร้อนฉ่าทันที และเรื่องนี้ก็สะเทือนถึงวงการสีกากีอีกครั้ง เพราะภาคเอกชนพากันออกมาขานรับเรื่องการตรวจสอบ และพร้อมให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ เพื่อให้เรื่องนี้หมดไปจากสังคมไทยเสียที

โดยที่ จังหวัดนครราชสีมา นายวิชัย สว่างขจร นายกสมาคมขนส่งสินค้าภาคอีสาน เปิดเผยว่า เรื่องสติกเกอร์ Easy Pass พิสดารแบบนี้ มีมานานแล้ว มีหลายแบบ เมื่อสติกเกอร์แบบเดิมหมดอายุหรือถูกกวาดล้าง ก็จะมีการปรับเปลี่ยนเป็นสติกเกอร์ใหม่ขึ้นมาอีกเรื่อย ๆ ซึ่งเป็นวงจรการทำมาหากินของขบวนการนี้ และต้องเป็นขบวนการที่มีขนาดใหญ่มาก มีผู้ร่วมขบวนการตั้งแต่ระดับนักการเมืองใหญ่ ไล่ลงมาหาข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ข้าราชการระดับกลาง และเจ้าหน้าที่ระดับล่างที่เป็นผู้ปฏิบัติงานในแต่ละพื้นที่ เพราะถ้าไม่ทำเป็นขบวนการอย่างนี้ จะไม่สามารถเคลียร์ค่าผ่านทางได้อย่างแน่นอน

กลุ่มรถบรรทุกที่ใช้บริการสติกเกอร์ ส่วนใหญ่เป็นรถบรรทุกขนาดใหญ่ ที่ต้องบรรทุกน้ำหนักเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด เนื่องจากการแข่งขันด้านการขนส่งสินค้า ใครขนส่งสินค้าได้ราคาถูกกว่าก็จะมีลูกค้าสนใจเรียกใช้บริการมากขึ้น ส่วนใครที่บรรทุกตามเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด ก็จะมีค่าขนส่งที่แพงกว่า เพราะจริง ๆ แล้วถ้าจะบรรทุกตามกฎหมายไม่เกิน 21 ตัน จะบรรทุกได้ไม่ถึงครึ่งกระบะ สำหรับรถบรรทุกหิน บรรทุกทราย จึงทำให้เกิดขบวนการหากินใต้ดินลักษณะนี้ขึ้นมา

ด้าน นายสมคิด กิ่งกรดกลาง ที่ปรึกษาสมาคมขนส่งสินค้าภาคอีสาน และสหพันธ์ขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย กล่าวเช่นเดียวกันว่า ส่วยสติกเกอร์รถบรรทุกมีมานานแล้ว ส่วนใหญ่เป็นรถบรรทุกหนักที่ขนหิน ดิน ทราย รถบรรทุกสินค้าก็มีบางส่วน แต่ละพื้นที่จังหวัดรูปแบบสติกเกอร์จะแตกต่างกัน และเปลี่ยนแปลงทุกเดือน ส่วนราคาสติกเกอร์ก็ขึ้นอยู่แต่ละพื้นที่ที่จะตกลงกัน เท่าที่ทราบมาก็จะจ่ายอยู่เฉลี่ยเดือนละ 5,000-10,000 บาท ขึ้นอยู่กับน้ำหนักที่จะบรรทุกเกินด้วย

นอกจากวิ่งบนทางหลวงที่ต้องจ่ายส่วยสติกเกอร์แล้ว เมื่อวิ่งบนถนนในหมู่บ้าน ตำบล ก็ถูกท้องที่เรียกเก็บส่วยรายทางอีก และหากใครจะวิ่งข้ามไปจังหวัดอื่นก็ต้องจ่ายเพิ่มให้กับพื้นที่จังหวัดนั้น ๆ ตามราคาที่เขากำหนด ผู้ประกอบการต่างบอกว่า ที่ยอมจ่ายส่วยสติกเกอร์เพื่อให้ได้วิ่งน้ำหนักเกิน บางครั้งก็ไม่คุ้มค่า แต่ที่ยอมจ่ายเพราะไม่อยากมีปัญหา หากจะแก้ปัญหาส่วยต้องแก้ทั้งระบบ เพราะมีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย

ผู้ประกอบการขนส่ง บอกว่า ถ้าจะแก้ปัญหานี้ก็ต้องแก้ไขกันทั้งระบบ ซึ่งจะต้องอาศัยอำนาจของรัฐบาลเท่านั้น จากนี้จะรวบรวมข้อมูลทั้งหมดไปส่งให้ว่าที่รัฐบาลชุดใหม่ หวังว่ารัฐบาลชุดใหม่จะช่วยกวาดล้างขบวนการนี้ให้หมดไปจากประเทศ เพื่อไม่ให้มีการทุจริตคอร์รัปชัน จนทำให้การขนส่งเสียไปทั้งระบบเหมือนในขณะนี้