เปิดประเด็น : ใบสั่งจราจร กับเสียงบ่นของประชาชน

View icon 270
วันที่ 31 พ.ค. 2566 | 11.21 น.
ห้องข่าวภาคเที่ยง
แชร์
ห้องข่าวภาคเที่ยง - เปิดประเด็นวันนี้ มาดูเรื่องใกล้ตัวนักเดินทาง ส่วนใหญ่มักเจอปัญหาเรื่องการใช้ความเร็วของรถยนต์ มีผู้ร้องเรียนมาที่ช่อง 7HD ว่า บางเดือนมีใบสั่งจากกล้องตรวจจับความเร็ว มาถึงบ้าน 5-6 ใบสั่ง

เปิดประเด็น : ใบสั่งจราจร กับเสียงบ่นของประชาชน
จะใช้ความเร็วได้แค่ไหน ในพื้นที่อะไร เพราะบางทีขับรถผ่านไป ก็ไม่เห็นป้ายจำกัดความเร็ว หรือพอเห็นป้ายก็ลดความเร็วกันไม่ทัน เพราะกระชั้นเกินไป มาขยายความเรื่องนี้ รวมถึงตรวจสอบด้วยว่า ที่เขากล่าวหา ใบสั่งจราจรกลายเป็นแหล่งทำมาหากินที่ถูกกฎหมายของตำรวจ จริงเท็จอย่างไร มีการแบ่งสัดส่วนเงินที่ได้จากใบสั่งอย่างไร 

สำรวจตำรวจตรวจ จับ-ปรับ ความเร็วรถยนต์
เชื่อว่า หลายท่านอาจจะรู้สึกเหมือนกับผู้ที่ร้องเรียนมายังช่อง 7HD ท่านนี้ แต่เราต้องย้ำก่อนว่า ใบสั่งจะไม่เกิด ถ้าไม่ทำผิดกฎจราจร 

จ.ขอนแก่น ยกเลิกใช้กล้องตรวจจับความเร็ว หลังค่าซ่อมกล้องแพง ไม่คุ้มค่าปรับที่เก็บได้ 20%
โดยในส่วนของจังหวัดขอนแก่น ยกเลิกการใช้กล้องตรวจจับความเร็วไปตั้งแต่ปี 2564 เพราะสู้ค่าซ่อมบำรุงที่แพงถึง 700,000 บาทต่อปี ไม่ไหว แต่ไปติดที่นอกเขตเมือง บริเวณอำเภอเขาสวนกวาง และอำเภอโนนศิลา เฉพาะเดือนที่ผ่านมามีการออกใบสั่งแล้วมากกว่า 5,000 ใบ แต่มีผู้จ่ายค่าปรับไม่ถึงร้อยละ 20

ติงเส้นทาง ลำปาง - เชียงใหม่ ติดกล้องจับความเร็วไม่เหมาะสม
ส่วนถนนเส้นจากจังหวัดลำปางไปจังหวัดเชียงใหม่ พบว่า จุดที่มีการติดตั้งกล้องตรวจจับความเร็ว มักจะเป็นช่วงลงเนินเขา ทำให้รถที่มีความเร็วสูง เพราะแรงส่งจากการลงเนิน จะชะลอความเร็วไม่ทัน โดยนอกจากมีการตรวจจับความเร็วจากกล้องแล้ว เลยไป 2-3 กิโลเมตร เจ้าหน้าที่ตำรวจจะมีการตั้งด่านดักตรวจ ทั้งความเร็ว ป้ายภาษี และดัดแปลงสภาพรถ ด้วย

ใช้คนถ่ายรูปตรวจจับความเร็วแทนกล้องฯ ที่หายปริศนา จ.สงขลา
ที่จังหวัดสงขลา พบมีกล่องติดตั้งกล้องตรวจจับความเร็ว แต่ภายในกลับไม่มีอุปกรณ์ดังกล่าว และมีบางพื้นที่ใช้คนมานั่งถ่ายรูปรถที่ใช้ความเร็ว โดยผู้ใช้รถใช้ถนน ก็ให้ข้อมูลตรงกันว่า อยากให้มีการติดป้ายบริเวณถนนทางตรง แทนช่วงลงเนินเขา

แฉ ตร. ให้ส่วนแบ่งค่าปรับแก่เอกชน หลังให้ติดตั้งกล้องจับความเร็ว
มีข้อมูลจาก คุณอภิชาติ ไพรรุ่งเรือง ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย ด้วยว่า ในบางพื้นที่ตำรวจให้เอกชนติดตั้งกล้องตรวจจับความเร็วให้ เพราะไม่มีงบประมาณ โดยจะให้ส่วนแบ่งกับเอกชน 20 บาทต่อ 1 ใบสั่ง

ตร.ทางหลวง ยัน ไม่มีกล้องฯ นอกระบบ และแบ่งรายได้ให้เอกชน
ทีมข่าวจึงสอบถามเรื่องนี้กับอดีตผู้บังคับการตำรวจทางหลวง ก่อนที่ท่านจะขอย้ายตัวเองออกจากตำแหน่งเพื่อเปิดทางให้การตรวจสอบเรื่องนี้เป็นไปอย่างโปร่งใส ได้รับคำยืนยันว่า ในส่วนของทางหลวง ไม่มีกล้องนอกระบบ ไม่มีการแบ่งเปอร์เซ็นต์ให้เอกชน

ทีมข่าวยังตรวจสอบเพิ่มเติมไปยังแหล่งข่าว 2 คน ที่ปฏิบัติหน้าที่ด้านนี้ ก็ยอมรับว่า ในบางพื้นที่มีกล้องนอกระบบแบบนี้จริง ซึ่งจะอยู่ในความรับผิดชอบของระดับกองกำกับการ หรือระดับทางหลวงพื้นที่ เป็นการตกลงกันนอกรอบ

สำหรับการแบ่งสัดส่วนประเภทค่าปรับ ตาม พ.ร.บ.จราจร ถ้าปรับ 1,000 บาท 50% จะเป็นของท้องถิ่น ก็คือ 500 บาท อีก 44.9% จะเป็นของตำรวจ ซึ่งจะเท่ากับ 449 บาท และอีก 5% ใส่ในกองทุนเพื่อการสืบสวน หรือคิดเป็นเงิน 50 บาท ที่เหลืออีก 0.1% หรือ 1 บาท ถึงจะเป็นเงินเข้าคลัง

ปี 64 ตำรวจออกใบสั่งฯ กว่า 10 ล้านใบ เตือนไม่จ่ายค่าปรับชวดต่อภาษีรถฯ
ทั้งนี้ จากสถิติในปี 2564 พบว่ามีการออกใบสั่งจราจรมากกว่า 10 ล้านใบ โดยตามมาตรการใหม่ที่ออกมาเมื่อวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา หากไม่จ่ายค่าปรับตามใบสั่ง ก็จะมีผลต่อการต่อภาษีทั้งรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ หากไม่ทำการจ่ายให้เรียบร้อย ก็จะไม่สามารถต่อภาษีประจำปีได้ ข้อมูลเพิ่มเติมจากกรมการขนส่งทางบก หลังเชื่อมระบบ การชำระใบสั่งจราจร ล่าสุดเฉพาะเดือนนี้ มีเจ้าของรถที่ชำระใบสั่งทั่วประเทศ รวม 111 คัน เป็นเงินค่าปรับ 50,500 บาท

ข่าวที่เกี่ยวข้อง