เปิดประเด็น : ซื้อรถแบตเตอรี่ไฟฟ้าแบบไหน ไม่รับจดทะเบียน

View icon 81
วันที่ 2 มิ.ย. 2566 | 11.35 น.
ห้องข่าวภาคเที่ยง
แชร์
ห้องข่าวภาคเที่ยง - คุณผู้ชมคงพอทราบข่าว มีผู้หญิงท่านหนึ่งซื้อ EV มา ใช้งานมานานเป็นปี แต่ไม่ได้ป้ายทะเบียนสักที ทีมข่าวเราไปตามสาเหตุที่แท้จริงจาก กรมการขนส่งทางบก มาแล้ว

รถยนต์แบตเตอรี่ไฟฟ้า หรือ รถ EV ที่ได้รับความนิยมกระทั่งยอดขายถล่มทะลายพุ่งเกินกว่า 200% คำถามคือ ซื้อรถแล้วจะต้องจดทะเบียนหรือไม่ คำตอบคือ ตามกฎหมายระบุต้องจดทะเบียน เช่นเดียวกับผู้ใช้รถยนต์ทั่วไป แต่สาวเจ้ากรรม ท่านหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ เธอไปซื้อรถรถ EV ยี่ห้อหนึ่ง ซึ่งเป็นรถนำเข้าจากจีน ขนาดเล็กกระทัดรัด รถยี่ห้อนี้ สีสัน และตัวรถ คือใครเห็นก็ต่างเอ็นดูการออกแบบ แถมราคาน่ารัก เพียง 300,000 - 400,000 บาทเท่านั้น ถือเป็นรถรุ่นหนึ่งที่ราคาถูกสุด ๆ เธอซื้อรถคันนี้ในราคา 449,900 บาท ทำสัญญาเช่าซื้อถูกต้อง จ่ายเงินดาวน์ไปเกือบ 200,000 บาท ผ่อนชำระ 4 ปี เดือนละ 6,500 บาท จากนั้นเธอก็ผ่อนชำระเรื่อยมาและใช้งานมานานเป็นปี ติดต่อพนักงานขายรถ หรือเซลล์ประจำโชว์รูมไป เมื่อไหร่ป้ายดำจะมา ใช้ป้ายแดงมานานเต็มที แต่ก็ได้คำตอบให้รอไปก่อน ปกติแล้วหากใครเคยซื้อรถยนต์ป้ายแดง

จะพบว่า ปกติเซลล์ที่จะเป็นคนทวงป้ายแดงคืนจากเรา แต่กรณีนี้ เจ้าของรถต้องทวงป้ายดำ ขอคืนป้ายแดง เพราะเขาให้ทางโชว์รูม เป็นคนเดินเรื่องขอทะเบียนรถ แต่ก็ถูกปัด เลี่ยงไปเลี่ยงมา จนเวลาล่วงเลยผ่านนานแรมปี ถามไปสอบถามเจ้าหน้าที่คนอื่น ก็ได้คำตอบมาว่า เจ้าหน้าที่ขนส่งฯ ยังไม่ทำให้ เธอก็ตามเรื่องเรื่อยมา กระทั่งครั้งล่าสุด รู้มาว่า เซลล์ลาออกไปแล้ว เธอก็เลยร้อนใจ ทนไม่ไหว ต้องออกมาโพสต์เตือนภัยว่า ซื้อรถยนต์ไฟฟ้าป้ายแดง แต่กลับไม่สามารถนำไปจดทะเบียนได้ ทีแรกก็เข้าใจว่า เซลล์ไม่ส่งเอกสารขอทะเบียนให้หรือเปล่า ถามไปถามมา ก็ไม่ใช่ รู้เพียงว่า เจ้าหน้าที่กรมการขนส่งทางบก ไม่จดทะเบียนให้ หนำซ้ำยังไม่สามารถต่อประกันภัยได้ จึงไม่กล้านำรถออกมาใช้งานบนท้องถนน เพราะกลัวจะเกิดอุบัติเหตุ เธอมั่นใจซื้อมาแบบถูกต้องทุกอย่าง เพราะเป็นรถที่นำมาจัดแสดงในงานแสดงรถยนต์เมื่อปี 2564 นั่นเอง

ทีมข่าวช่วยสอบถามสาเหตุไปยัง กรมการขนส่งทางบก ทราบสาเหตุกรณีที่เจ้าหน้าที่ไม่จดทะเบียนรถให้ เป็นเพราะรถรุ่นดังกล่าว ยังไม่ได้รับใบอนุญาต "รับรองแบบ" จากกรมการขนส่งทางบก ที่ระบุให้ ผู้ผลิต ประกอบ หรือ ผู้นำเข้ารถยนต์นั่ง รถบรรทุก รถจักรยานยนต์ เพื่อจำหน่าย หรือใช้เอง ต้องยื่นเอกสารขอรับรองแบบ และได้รับอนุมัติก่อน ซึ่งเอกสารก็จะแสดงข้อมูลรายละเอียดรถ รายงานผลการทดสอบ, เอกสารแสดงการตรวจสอบการผลิตให้เป็นไปตามต้นแบบ รถที่ลูกค้าซื้อไปจึงจะสามารถขอทะเบียนได้ เรื่องราวมาถึงขนาดนี้ คราวนี้จะเอากับผิดใคร ทนายเจมส์ แนะนำให้ร้องเรียนไปที่ สคบ. หรือตั้งทนาย ฟ้องร้องค่าเสียหาย

มาดูขั้นตอนการขอจดทะเบียนรถ EV ก็จะทำเช่นเดียวกับการจดทะเบียนรถประเภทอื่น และสามารถรับแผ่นป้ายทะเบียนรถได้ทันที เพียงเตรียมเอกสาร หลักฐานให้ครบ ก็ะชำระค่าธรรมเนียม ประมาณ 355 บาท เมื่อครบถ้วนจะได้สติกเกอร์ เพื่อนำไปติดแสดงท้ายรถ พื้นเครื่องหมายเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสสีน้ำเงินเข้ม ปรากฏข้อความ "รถขนาดเล็ก S" และ "สติกเกอร์ E" สำหรับรถนั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน สีขาวสะท้อนแสง เพื่อแสดงให้เห็นชัดเจนว่าเป็นที่ใช้พลังงานไฟฟ้า เท่านี้เป็นอันเสร็จเรียบร้อย

รถยนต์แบตเตอรี่ไฟฟ้า เพิ่งเข้ามาในไทยไม่นาน ให้พิจารณาเลือกยี่ห้อรถยนต์ที่น่าเชื่อถือ และได้มาตรฐานการผลิต จึงเป็นสิ่งสำคัญ รวมทั้งต้องมีศูนย์บริการหลังจากขายที่ได้มาตรฐาน สามารถช่วยเหลือเวลารถเกิดมีปัญหา เพราะไม่สามารถซ่อมรถ EV นอกศูนย์บริการได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง