คอลัมน์หมายเลข 7 : เบื้องหลังขบวนการค้าไม้พะยูงข้ามชาติ พบ จนท.รัฐ ชี้เป้า-ขายข้อมูล

View icon 75
วันที่ 5 มิ.ย. 2566 | 20.09 น.
ข่าวภาคค่ำ
แชร์
ข่าวภาคค่ำ - คอลัมน์หมายเลข 7 วันนี้ ไขปมขบวนการลักลอบขายไม้ข้ามชาติ ซึ่งทำให้ทรัพยากรป่าไม้ตอนนี้ถูกทำลายไปอย่างมาก คุณมะลิ แซ่ฉิ่น ติดตามเรื่องนี้ พบว่าเบื้องหลังส่วนใหญ่มักจะมีเจ้าหน้าที่ของรัฐร่วมรู้เห็นด้วย ติดตามจากรายงาน

เหตุการณ์คนร้าย 30 คน พร้อมอาวุธครบมือ บุกเข้าไปในศูนย์พฤกษศาสตร์ดงมะอี่ เคลื่อนย้ายไม้พะยูงของกลางมูลค่ากว่า 1,900,000 บาท ตามใบสั่งนายทุนชาวจีน โดยใช้รถขนย้ายตั้งแต่เวลา 19.00-23.00 น. ถือเป็นปฏิบัติการอุกอาจที่เกิดขึ้นในพื้นที่ส่วนราชการ ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ของรัฐร่วมรู้เห็นเป็นใจ

และที่น่าสนใจ คือ ข้อมูลจากอธิบดีกรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ซึ่งยอมรับว่า นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่พบว่าเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปพัวพัน หากแต่มีหลักฐานอีกหลายกรณีที่พบว่าเจ้าหน้าที่รัฐคอยชี้เป้าและขายข้อมูลไม้สำคัญที่เป็นไม้หายาก จนนำไปสู่การลักลอบตัดและส่งขายข้ามชาติ ทั้งในภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคใต้โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ 6 จังหวัดประกอบด้วย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ตาก ลำพูน ลำปาง และน่าน

จากการติดตามข้อมูล ยังพบว่า กลุ่มไม้ประดู่ชิงชัง ไม้พะยูง และไม้กฤษณา เป็นกลุ่มไม้ที่นายทุนลาวและนายทุนจีนต่างต้องการ เพื่อนำไปแกะสลักเป็นไม้มงคลหรือไม่ก็ไปสร้างพระราชวัง แต่เมื่อไม้ขโมยตัดในป่าหายากมากขึ้น การขโมยไม้ของกลาง จึงเป็นทางเลือกที่หลายฝ่ายยอมเสี่ยงเพื่อให้ได้มาซึ่งค่าตอบแทนที่ค่อนข้างสูง โดยมีชาวบ้านร่วมรู้เห็นเป็นใจคอยดูต้นทาง

เมื่อไม้ถูกเลื่อยในป่าลึก จะถูกชักลากออกมารวมไว้ที่บ้านของชาวบ้าน และหลายครั้ง ก็ถูกนำมาสร้างเป็นเพิงพัก คือวิธีการที่ขบวนการลักลอบขายไม้ข้ามชาติเลือกใช้ เพื่อหลบหลีกป้องกันการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่ และทันทีที่ได้ไม้ในจำนวนที่เพียงพอ ก็จะใช้รถบรรทุกขนส่งไปยังโรงเลื่อยซึ่งเป็นของผู้มีอิทธิพล ก่อนจะหาทางลำเลียงไม้ออกตามชายแดนตามใบสั่งจากนายทุนซึ่งในอดีตจะปล่อยลอยน้ำทั้งต้นตามแม่น้ำสาละวิน แต่ปัจจุบันเป็นการส่งลงเรือข้ามแม่น้ำไปยังประเทศเพื่อนบ้าน

โดย 6 อันดับแรกของไม้หวงห้ามที่มีการถูกลักลอบตัดขายส่งไปต่างประเทศ พบว่า มากที่สุดเป็นอันดับ 1 คือ ไม้พะยูง ซึ่งมีราคาซื้อขายสูงสุดอยู่ที่ประมาณ 500,000 บาท ต่อตารางเมตร

ขณะที่ไม้ชิงชัน และไม้ประดู่ ราคาจะอยู่ที่ 100,000 บาท ต่อตารางเมตร

ส่วนไม้สัก ไม้แดง และไม้มะค่า มีราคาประมาณ 30,000 บาท ต่อตารางเมตร

ข่าวที่เกี่ยวข้อง