"ว่านจักจั่น" สัตวแพทย์เตือน กินครั้งเดียวต้องจัดงานรวมญาติ ใส่ขาว-ดำ มีพระ 4 รูปมาสวด

"ว่านจักจั่น" สัตวแพทย์เตือน กินครั้งเดียวต้องจัดงานรวมญาติ ใส่ขาว-ดำ มีพระ 4 รูปมาสวด

View icon 6.3K
วันที่ 11 มิ.ย. 2566 | 15.52 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
แชร์ว่อน "ว่านจักจั่น" กินหรือเอาไปทำอะไรดี สัตวแพทย์เตือน อย่าเก็บมาบูชาหรือเก็บมากิน เพราะเป็นอาหารที่กินได้ครั้งเดียวแล้วต้องจัดงานรวมญาติ ซึ่งต้องใส่เสื้อผ้าขาว-ดำ มีพระ 4 รูปมาสวด เชื้อราทำลายแมลงกินแล้วคลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเหลว ชัก กล้ามเนื้อเกร็งกระตุก ดวงตาหมุนวนไปรอบๆ ไม่ทิศทางที่ชัดเจน อ่อนแรงใจสั่น เวียนศีรษะ อาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต ไม่มียาแก้ ต้องรักษาไปตามอาการแบบประคับประคองเท่านั้น  

ความคืบหน้ากรณีการแชร์ภาพของแปลก ว่านจักจั่น เอาไปกินหรือทำอะไรดี ซึ่งโพตส์ดังกล่าวมีคนเข้ามากดไลก์เป็นจำนวนมาก แชร์ไปมากกว่า 300 แชร์ ทำให้ผู้ใช้เฟซบุ๊ก Save Gurney Pitta ออกมาให้ความเห็นแจ้งเตือนในฐานะนายสัตวแพทย์ จากศูนย์วิจัยและนวัตกรรมทางสัตวแพทย์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน กรุงเทพฯ เห็นว่าเป็นประเด็นทางสังคมที่น่าเป็นห่วง และยังมีคนเข้าใจผิด ในเรื่องนี้อยู่มาก

สัตวแพทย์ท่านนี้ อ้างอิงข้อมูลจาก น.ส.ธิติยา บุญประเทือง หัวหน้ากลุ่มงานวิจัยเห็ด และหัวหน้ากลุ่มงานพิพิธภัณฑ์เห็ดรา ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค สวทช.) ซึ่งระบุว่า จักจั่นจะติดเชื้อราในขณะที่เป็นตัวอ่อน ในช่วงที่ขึ้นมาลอกคราบเป็นตัวเต็มวัยเหนือดิน ในระยะนี้จักจั่นจะอ่อนแอมาก ร่วมด้วยช่วยกันกับอากาศชื้นจากหน้าฝนที่มีความชื้นสูง ทำให้เชื้อราที่แพร่กระจายได้ดีในอากาศ เมื่อเชื้อราตกลงไปอยู่บนตัวจักจั่นผู้อ่อนแอ ภูมิต้านทานต่ำ จึงทำให้เชื้อราสามารถแทงเส้นใยเข้าไปและงอกงามภายใจตัวจักจั่นได้ดี โดยดูดน้ำเลี้ยงในตัวจักจั่นเป็นอาหาร และทำให้จักจั่นตายในที่สุด 

เมื่อจักจั่นตายแล้ว เชื้อราหมดทางหาอาหารได้ จึงต้องพยายามไปหาอาหารที่อื่น โดยการสร้างโครงสร้างสืบพันธุ์ที่มีลักษณะเหมือนเขายืดขึ้นเหนือพื้นดิน หรือ ลักษณะที่เหมือนเขาของว่านจักจั่น

สปอร์ หรือหน่วยสืบพันธุ์ที่ติดอยู่บริเวณปลายเขาที่สร้างขึ้นเหนือพื้นดิน จะต้องอาศัยลมหรือน้ำในการพัดพาให้ไปตกอยู่ในที่อื่นๆ เพื่อค้นหาจักจั่นโชคร้ายตัวต่อไป เชื้อราที่มีพฤติกรรมอาศัยอยู่ในตัวแมลงที่มีชีวิต จัดอยู่ในประเภท เชื้อราทำลายแมลง ราชนิดนี้นักวิจัยสันนิษฐานว่าเป็นเชื้อราสายพันธุ์ Cordyceps sobolifer และจากการศึกษาของนักวิจัยจากไบโอเทค พบว่ามีราทำลายแมลงในประเทศไทยมากกว่า 400 ชนิด พบได้ทั้งบนหนอน แมลงวัน มวน เพลี้ย ผีเสื้อ ปลวก แมลงปอ แมงมุม มด เป็นต้น

ส่วนสำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ก็ได้เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับ “ว่านจักจั่น” ว่า มีความใกล้เคียงกับราชนิด Ophiocordyceps sobolifera เมื่อกินแล้วคลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเหลว ชัก กล้ามเนื้อเกร็งกระตุก ดวงตาหมุนวนไปรอบๆไม่ทิศทางที่ชัดเจน อ่อนแรงใจสั่น และเวียนศีรษะ และอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ หรืออาการ "tremorgenic mycotoxins" ซึ่งไม่มียาแก้ ต้องรักษาไปตามอาการ แบบประคับประคองเท่านั้น  

นอกจากนี้ในประเทศเวียดนาม มีรายงานการกินว่านจักจั่น ชนิด Ophiocordyceps heteropoda ทำให้เกิดอาการเวียนหัว อาเจียน น้ำลายไหล ม่านตาขยาย กรามแข็ง ไม่สามารถขับปัสสาวะได้ตามปกติ ชัก เพ้อคลั่ง เกิดภาพหลอน ง่วงซึม โคม่า และอาจรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ ซึ่งก็คืออาการ "tremorgenic mycotoxins" อีกเช่นกัน 

“ว่านจักจั่น โปรดอย่าไปเก็บมาบูชา หรือเก็บมากิน เพราะเป็นอาหารที่กินได้ครั้งเดียว แล้วต้องจัดงานรวมญาติ ซึ่งต้องใส่เสื้อผ้าขาว-ดำ มีพระ 4 รูปมาสวดให้ และคงไม่มีใครอยากมีงานนี้”

ข่าวที่เกี่ยวข้อง