40 ตำรวจทางหลวง เอี่ยวส่วยสติกเกอร์ฯ รายงานตัววันนี้

View icon 63
วันที่ 12 มิ.ย. 2566 | 07.14 น.
สนามข่าว 7 สี
แชร์
สนามข่าว 7 สี - รักษาราชการแทนผู้บังคับการตำรวจทางหลวง ออกมายืนยันว่าตำรวจทางหลวง 40 นาย ที่เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการรับส่วยสติกเกอร์รถบรรทุก มีทั้งตำรวจที่รับรู้ถึงพฤติการณ์ของตำรวจที่ถูกกล่าวหา แต่ไม่มีส่วนร่วมกระทำความผิด และผู้ประกอบการที่เคยจ่ายส่วยให้ ซึ่งทั้งหมดถูกกันไว้เป็นพยานในคดี มีเพียง 12 นายเท่านั้นที่เกี่ยวข้องจริง ๆ โดยทั้งหมดจะต้องมารายงานตัวในวันนี้  

หลังจากรักษาราชการแทน ผู้บังคับการตำรวจทางหลวง มีคำสั่งย้ายตำรวจทางหลวง 40 นาย ประกอบด้วย ตำแหน่งรองผู้กำกับการ 1 นาย รองสารวัตร 17 นาย และระดับชั้นประทวน 22 นาย ที่ต้องสงสัยว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีส่วยสติกเกอร์รถบรรทุก และเรียกรับผลประโยชน์อื่น ๆ ให้ไปปฏิบัติหน้าที่ที่ศูนย์ปฏิบัติการกองบังคับการตำรวจทางหลวง โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 12 มิถุนายน ทำให้ตำรวจทั้ง 40 นาย ต้องไปรายงานตัวกับต้นสังกัดในวันนี้ 

ขณะที่ พลตำรวจตรีจรูญเกียรติ ปานแก้ว ผู้บังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ และรักษาราชการแทนผู้บังคับการตำรวจทางหลวง เปิดเผยถึงความคืบหน้าเรื่องนี้ว่า การที่สามารถยืนยันตัวตนและระบุตำรวจต้องสงสัยทั้ง 40 นายนั้น มาจากพยานบุคคล ซึ่งมีทั้งตำรวจที่รับรู้ถึงพฤติการณ์ของตำรวจที่ถูกกล่าวหา แต่ไม่มีส่วนร่วมกระทำความผิด และผู้ประกอบการที่เคยจ่ายส่วยให้ ซึ่งทั้งหมดถูกกันไว้เป็นพยานในคดี ระหว่างนี้พนักงานสอบสวนกำลังรวบรวมพยานหลักฐานให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน เพื่อส่งให้ ป.ป.ช.พิจารณาชี้มูลความผิด

อย่างไรก็ตาม ตำรวจทางหลวงที่ถูกกล่าวหาทั้ง 40 นาย ในจำนวนนี้มี 12 นายที่ถูกดำเนินคดีฐานเป็นเจ้าพนักงานเรียกรับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดโดยมิชอบ และเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพราะก่อนหน้านี้เคยถูกร้องเรียนเกี่ยวกับเรื่องเรียกรับเงินสินบนอื่น ๆ จากผู้ประกอบการรถบรรทุกมาแล้ว

ขณะที่ นิด้าโพล เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง ส่วยสติกเกอร์รถบรรทุก เก็บตัวอย่าง 1,310 หน่วยตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 6-7 มิถุนายนที่ผ่านมา พบว่าร้อยละ 82% ระบุว่า ปัญหาเกิดจากมีการบรรทุกเกินกว่าน้ำหนักที่กฎหมายกำหนด ส่วนสาเหตุ ร้อยละ 73% ระบุว่า เพื่อลดต้นทุนค่าขนส่ง  รองลงมา เพื่อเพิ่มกำไรในธุรกิจขนส่ง และขนาดน้ำหนักที่กฎหมายกำหนดไม่สะท้อนความเป็นจริงในปัจจุบัน

ส่วนประเด็นเรื่องข่าวส่วยสติกเกอร์รถบรรทุก พบว่า ร้อยละ 60% ระบุว่า เชื่อว่ามีจริง รองลงมา ร้อยละ 25% ระบุว่า ค่อนข้างเชื่อ ร้อยละ 10% ระบุว่า ไม่ค่อยเชื่อ 

สาเหตุที่ทำให้เกิดส่วยสติกเกอร์รถบรรทุก ร้อยละ 75% ระบุว่า เจ้าของรถบรรทุกยินดีจ่ายเพื่อความสะดวกในการดำเนินกิจการ ร้อยละ 75% ระบุว่า ผู้บังคับใช้กฎหมายต้องการหาผลประโยชน์ และร้อยละ 26% ระบุว่า ขนาดน้ำหนักที่กฎหมายกำหนด ไม่สะท้อนความเป็นจริงในปัจจุบัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง