ประเด็นเด็ดเศรษฐกิจ : ต้นไม้ หลักประกันธุรกิจ

View icon 62
วันที่ 15 มิ.ย. 2566 | 22.27 น.
ประเด็นเด็ด 7 สี
แชร์
ประเด็นเด็ด 7 สี - ตั้งแต่ปี 2561 จนถึงขณะนี้ ก็เกือบ ๆ 5 ปีแล้ว ที่กระทรวงพาณิชย์ มีการแก้ไขกฎหมาย ให้ประชาชน หรือเกษตกร นำต้นไม้มีค่า มาใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันในการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน ประเด็นเด็ดเศรษฐกิจวันนี้ ไปดูว่ามีต้นไม้กี่ชนิด ที่เราจะสามารถใช้ประโยชน์ในส่วนนี้ได้บ้าง

หลังกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดกว้างให้นำไม้ยืนต้นที่มีค่าและปลูกบนที่ดินกรรมสิทธิ์ มาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน การขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน เพื่อลงทุนหรือต่อยอดธุรกิจได้ ปรากฎว่า ตอนนี้ ขอบข่ายชนิดต้นไม้ ขยายวางกว้างหลากหลายมากกว่าเดิมทีเดียว 

การใช้กฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ ปี 2558 ซึ่งเป็นกฎหมายที่เปิดกว้างให้นำไม้ยืนต้นที่มีค่า ที่ปลูกบนที่ดินกรรมสิทธิ์มาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน ในการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน เพื่อลงทุน หรือต่อยอดธุรกิจได้ โดยจะต้องยื่นขอจดทะเบียนหลักประกัน ที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ โดยการเปิดกว้างให้นำไม้ยืนต้นมาจดหลักประกัน ก็เริ่มดำเนินเรื่อยมา ตั้งแต่ปี 2561 หลังกฎหมายฉบับนี้ มีผลบังคับใช้ก็กลายเป็นที่มาให้สถาบันการเงินและผู้รับหลักประกันอื่น สามารถเพิ่มประเภททรัพย์สิน ในการให้สินเชื่อได้มากขึ้น เรียกได้ว่า ส่งผลดีทั้งต่อสถาบันการเงิน ภาคธุรกิจ เกษตรกร รวมถึงประชาชนที่ต้องการใช้ไม้ยืนต้นเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันในการขอสินเชื่อ ก็ดำเนินการได้ โดยมีกฎหมายรองรับอย่างชัดเจน

กระทรวงพาณิชย์ ได้เปิดกว้างให้ไม้ยืนต้นแทบทุกชนิด อย่างที่เรารู้จักกันดี เช่น ไม้สัก, พะยูง, ชิงชัน, กระซิก, กระพี้เขาควาย, สาธร, แดง, ประดู่ป่า, ประดู่บ้าน, มะค่าโมง, มะค่าแต้, เคี่ยมเคี่ยมคะนอง, เต็ง, รัง, พะยอม, ตะเคียนทอง, ตะเคียนหิน, ตะเคียนชันตาแมว, ไม้สกุลยาง (ไม่รวมยางพารา), สะเดา, สะเดาเทียม, ตะกู, ยมหิน, ยมหอม, นางพญาเสือโคร่ง, นนทรี, สัตบรรณ, ตีนเป็ดทะเล, พฤกษ์, ปีบตะแบกนา, เสลา, อินทนิลน้ำ, ตะแบกเลือด, นากบุด, ไม้สกุลจำปี (จำปีสิรินธร จำปีป่า จำปีถิ่นไทย จำปีดง จำปีแขก จำปีเพชร ), แคนา, กัลปพฤกษ์, ราชพฤกษ์, สุพรรณิการ์, เหลืองปรีดียาธร, มะหาด, มะขามป้อม, หว้า, จามจุรี, พลับพลา, กันเกรา, กะทังใบใหญ่, หลุมพอ, กฤษณาไม้หอม, เทพทาโร, ฝาง, ไผ่ทุกชนิด, ไม้สกุลมะม่วง, ไม้สกุลทุเรียนมะขาม, และไม้ไผ่ รวม ๆ ตอนนี้กว่า 50 ชนิด สามารถขอเป็นหลักประกันได้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของสถาบันการเงินแต่ละแห่ง และสามารถขอขยายวงเงินสินเชื่อเพิ่มเติมได้ในอนาคตตามการเติบโตของต้นไม้แต่ละชนิดอีกด้วย

คราวนี้มาดูสถิติการจดทะเบียน การนำต้นไม้มาเป็นหลักประกัน ปัจจุบันมีทั้งสิ้น 146,282 ต้น เป็นเงินค้ำประกันกว่า 137 ล้านบาท แบ่งเป็นยื่นกับ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. รวม 318 ต้น จำนวนเงินค้ำประกัน 3,103,912 บาท, ธนาคารกรุงไทย อีก 23,000 ต้น เงินค้ำประกัน 128,000,000 บาท และพิโกไฟแนนซ์ จำนวนต้นไม้ 122,964 ต้น จำนวนเงินค้ำประกัน 6,013,800 บาท

นอกจากต้นไม้มีค่า สินทรัพย์อีกหลายประเภท เช่น กิจการ สิทธิเรียกร้อง สินค้าคงคลัง วัตถุดิบ ก็สามารถนำมาใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจได้เช่นกัน ก็ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแต่ละสถาบันการเงิน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง