กสม. แนะ “สภากาชาดไทย” แก้ไขแบบคัดกรองความเสี่ยง เปิดโอกาส “LGBTQ+” บริจาคเลือด
วันนี้ (6ก.ค.66) นายพิทักษ์พล บุณยมาลิก เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนเมื่อเดือนธันวาคม 2563 จากสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย ระบุว่า ผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้หญิงข้ามเพศ (transgender) คนหนึ่ง ไม่สามารถบริจาคโลหิตกับศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย (ผู้ถูกร้อง) เมื่อปี 2562 ได้ แม้มีใบรับรองผลการตรวจหาเชื้อเอชไอวีที่เป็นลบ เพราะเป็นกลุ่มบุคคลหลากหลายทางเพศ ซึ่งเป็นกลุ่มประชากรหลักที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ สมาคมฯ เห็นว่าการบริจาคโลหิตควรเป็นสิทธิส่วนบุคคลที่จะได้รับการคัดกรองโดยไม่เลือกปฏิบัติ และ ไม่ตีตราบุคคลอันเป็นการจำกัดสิทธิ และ ลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
กรณีนี้ กสม. ได้รับคำชี้แจงว่า เหตุที่เจ้าหน้าที่ของศูนย์บริการโลหิตฯ ปฏิเสธที่จะรับบริจาคโลหิต เพราะผู้เสียหายตอบคำถามในแบบฟอร์มคัดกรองการรับบริจาคโลหิตว่า มีเพศสัมพันธ์กับเพศเดียวกัน ซึ่งเป็นหนึ่งในพฤติกรรมเสี่ยงของประวัติด้านเพศสัมพันธ์ที่ศูนย์บริการโลหิตฯ กำหนด และ แม้จะมีผลตรวจเชื้อเอชไอวีเป็นลบ แต่อาจอยู่ในระยะเวลาที่เชื้อเอชไอวีมีระดับปริมาณน้อยมาก ทำให้ตรวจไม่พบเชื้อ แต่ก็มิได้หมายความว่าจะไม่แพร่ทางการรับโลหิต ผู้เสียหายจึงได้ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ หรือคณะกรรมการ วลพ. ซึ่งมีคำวินิจฉัย ว่า การปฏิเสธไม่รับบริจาคโลหิต เข้าลักษณะการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ
กสม. พิจารณาแล้วเห็นว่า ศูนย์บริการโลหิตฯ ในฐานะที่เป็นธนาคารโลหิตแห่งชาติ มีหน้าที่อยู่บนหลักความรับผิดชอบสูงสุดที่จะต้องคำนึงถึงมาตรฐานและความปลอดภัยของโลหิตที่จะนำไปรักษาผู้ป่วยเป็นประการสำคัญที่สุด รวมทั้งต้องสร้างสภาวะที่ประกันการบริการทางการแพทย์ และ การดูแลรักษาพยาบาลอย่างมีคุณภาพตามมาตรฐานสูงสุดเท่าที่เป็นไปได้ จึงเป็นเหตุให้ศูนย์บริการโลหิตฯ ปฏิเสธไม่รับบริจาคโลหิตของผู้เสียหาย เนื่องจากผู้เสียหายได้ตอบแบบสอบถามการคัดกรองว่ามีประวัติการมีเพศสัมพันธ์กับชายเพศเดียวกัน แต่กลุ่มบุคคลหลากหลายทางเพศไม่ควรถูกปิดกั้นการบริจาคโลหิตเป็นการถาวร
กสม. จึงมีข้อเสนอแนะต่อศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ให้ปรับปรุงใบสมัครผู้รับบริจาคโลหิตและคู่มือการคัดเลือกผู้บริจาคโลหิต โดยมุ่งเน้นสอบถามลักษณะพฤติกรรมเพศสัมพันธ์ที่มีความเสี่ยงสำหรับทุกเพศทุกวัย และ หลีกเลี่ยงการเชื่อมโยงไปยังกลุ่มประชากรที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี ตามฐานข้อมูลสถิติกลุ่มประชากร รวมถึงกลุ่มบุคคลหรือกลุ่มอาชีพ นอกจากนี้ ให้เร่งรัดการศึกษาวิจัยเพื่อกำหนดช่วงเวลางด/เลื่อนการบริจาคโลหิต ที่ปลอดภัยสำหรับผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ และ นำผลการศึกษาวิจัยมาใช้ประกอบการพิจารณาผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ ให้สามารถบริจาคโลหิตได้ภายใต้เงื่อนไขการกำหนดระยะเวลารอคอย