นายกฯสมาคมไข่ไก่ แจงจำเป็นต้องขึ้นราคาไข่ มาอยู่ที่ฟองละ 4 บาท ต้นทุนทุกอย่างขึ้นหมด ขายราคา 3.80 บาท เกษตรกรอยู่ไม่ได้ จี้เลิกควบคุมราคาไข่ไก่ปล่อยให้ขึ้นลงตามกลไกตลาด
ตั้งแต่วันพรุ่งนี้ (14 ก.ค.66) 4 สหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่รายใหญ่ ประกาศขึ้นราคาไข่ไก่อีก 20 สตางค์/ฟอง เป็นฟองละ 4 บาท
นายมงคล พิพัฒสัตยานุวงศ์ นายกสมาคมผู้ผลิต ผู้ค้าและส่งออกไข่ไก่ เปิดเผยถึงสาเหตุที่ต้องขึ้นราคาไคละหน้าฟาร์มจาก 3.80 บาท เป็น 4 บาท/ฟอง หลังจากตรึงราคามาหลายสัปดาห์ ทำให้ผู้เลี้ยง เกษตรกรขาดทุนจนต้องทยอยเลิกเลี้ยงไปหลายราย
สาเหตุที่ราคาไข่คละหน้าฟาร์มปรับขึ้นต่อเนื่อง ปัจจัยสำคัญคือวัตถุดิบอาหารสัตว์ ซึ่งมีราคาพุ่งขึ้นอย่างมากและต่อเนื่องมาตั้งแต่สงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้วัตถุดิบขาดแคลนและการขนส่งยากลำบาก จนถึงขณะนี้ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กากถั่วเหลือง และธัญพืชอื่นๆยังอยู่ในเกณฑ์สูง โดยวัตถุดิบอาหารสัตว์นี้ถือเป็นต้นทุนหลักราว 60-70% ของต้นทุนทั้งหมดทีเดียว
ปัจจัยต่อมาได้แก่สภาวะเอลนีโญ หรือการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่กำลังส่งผลต่อธัญพืชต่างๆทั่วโลก ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตลดลง เกิดการแย่งชิงทรัพยากรกันมากขึ้น และสะท้อนให้เห็นแนวโน้มราคาพืชวัตถุดิบอาหารสัตว์ในอนาคตที่จะอยู่ในเกณฑ์สูงต่อเนื่องไปตลอดทั้งปีแน่นอน
ขณะเดียวกัน ต้นทุนค่าไฟฟ้าก็สูงขึ้นมากจากอัตราค่าไฟที่สูงขึ้น ยิ่งในช่วงที่ผ่านมาอากาศร้อนอบอ้าวต้องใช้ไฟฟ้าในการเปิดพัดลมระบายความร้อนมากขึ้น ทำให้ปัจจัยข้อนี้เป็นอีกส่วนสำคัญที่ดันต้นทุนการผลิตไข่ไก่ให้สูงขึ้นไม่น้อย รวมถึง ค่าจ้างแรงงานที่ขยับขึ้นจากการหาแรงงานยากขึ้นด้วย
“ปัจจัยทั้งหมดทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่อยู่อย่างยากลำบาก ราคาประกาศไข่คละที่ 3.80 บาท ก็ตอนที่ขายจริงก็ไม่ใช่ว่าจะขายทุกฟองได้ในราคาประกาศ จึงกลายเป็นขาดทุนสะสมให้เกษตรกรทยอยเลิกเลี้ยงไป ทางที่ดีควรปล่อยให้กลไกตลาดทำงาน เมื่อราคาไข่ไก่ขยับตามอุปสงค์อุปทานที่เกิดขึ้นจะทำให้ทั้งเกษตรกรและผู้บริโภคได้ซื้อ-ขายไข่ไก่ในระดับราคาที่สมดุลเอง” นายมงคลกล่าว
สำหรับ โครงการเชื่อมโยงอาหารสัตว์ให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ปี 2566 ซึ่งเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อย คนละไม่เกิน 10,000 บาท ที่กรมการค้าภายในดำเนินการเพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิต ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2566 เป็นเวลา 1 เดือนให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ที่เลี้ยงไก่ไม่เกิน 1 แสนตัวนั้น มองว่ายังไม่สามารถช่วยเหลือเกษตรกรได้ในวงกว้าง ขอเสนอให้ภาครัฐแก้ปัญหาราคาวัตถุดิบตั้งแต่ต้นทางโดยตรงจะช่วยเกษตรกรได้ในตรงประเด็นและเกิดประโยชน์ต่อเกษตรกรในวงกว้างมากกว่า