ประเด็นเด็ดเศรษฐกิจ : ทำไม ไข่ไก่ ราคาแพง

View icon 76
วันที่ 20 ก.ค. 2566 | 22.23 น.
ประเด็นเด็ด 7 สี
แชร์
ประเด็นเด็ด 7 สี - ไข่ไก่ปีนี้ราคาปรับขึ้นต่อเนื่อง สาเหตุที่ราคาปรับขึ้นเป็นเพราะอะไรบ้างนั้น ไปติดตามกับคุณธัญนันท์ เหล่าบุรินทร์ ในประเด็นเด็ดเศรษฐกิจ

ราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์มปัจจุบันขายอยู่ที่ฟองละ 4 บาท ราคาสูงมาตั้งแต่ต้นทางขนาดนี้ กว่าจะถึงปลายทาง ราคาก็ต้องบวกเพิ่มไปตามแต่ขนาด และสถานที่จำหน่าย ผู้บริโภคอย่างเราก็จำใจต้องซื้อในราคาสูงลิบ แล้วทราบหรือไม่ ทำไมไข่ไก่ถึงราคาแพง

แต่ก่อนอื่นไปย้อนดูสถิติราคาไข่ไก่ ปี 2566 เริ่มปรับราคาตั้งแต่สัปดาห์แรกของปีเลย ปรับขึ้นฟองละ 20 สตางค์ เป็น 3 บาท 60 สตางค์ พอเข้าเดือนกุมภาพันธ์ มีการปรับลดราคาถึง 2 ครั้ง ครั้งละ 20 สตางค์ ทำให้ราคาไข่ไก่ลดไปอยู่ที่ ฟองละ 3 บาท 20 สตางค์ แต่พอเดือนมีนาคม มีการปรับ 2 ครั้ง ครั้งละ 20 สตางค์เช่นกัน แต่เป็นการปรับขึ้น ทำให้ราคาไข่ไก่ กลับมาเท่ากับตอนเดือนมกราคม

จากนั้นราคาไข่ไก่ทรงตัวมาเรื่อย ๆ จนถึงกลางเดือนพฤษภาคม ปรับขึ้นอีกฟองละ 20 สตางค์ กลายเป็นราคาฟองละ 3 บาท 80 สตางค์ และล่าสุด 14 กรกฎาคมที่ผ่านมา ปรับราคาขึ้นอีก 20 สตางค์ เป็นราคาฟองละ 4 บาท

สอบถามไปที่ คุณสุธาศิน อมฤก นายกสมาคมการค้าผู้ค้าไข่ไทย ในวงการเค้าเรียกกันว่า "บังจู" ทราบว่า สาเหตุหลัก ๆ ของการปรับขึ้นราคาในปีนี้ มาจากต้นทุนอาหารสัตว์ที่โรงงานยังไม่ปรับลดราคาลง

ซึ่งค่าอาหารสัตว์ คิดเป็น 70 % ของต้นทุนทั้งหมด แถมยังมี ค่าวัคซีนไก่ 2,000 บาทต่อเดือน และค่าแรงงานอีก 15,000 บาทต่อเดือน รวม ๆ แล้ว ปัจจุบัน ต้นทุนไข่ไก่อยู่ที่ฟองละ 3 บาท 70 สตางค์ ประกอบกับสภาพอากาศที่ร้อน ทำให้ผลผลิตออกมาน้อย รวมไปถึง การปลดแม่ไก่ยืนกรงที่อายุครบเกณฑ์ ทำให้ปริมาณไข่ไก่ขนาดใหญ่ ลดลงไปด้วย ตอนนี้เริ่มมีแม่ไก่สาวเข้าสู่ระบบมากขึ้น คาดว่าเดือนหน้า ปริมาณไข่ไก่ ขนาดเล็ก จะออกสู่ตลาดเพิ่ม

โดยใน (ร่าง)แผนการผลิตไก่ไข่-ไข่ไก่ ปี 2567 เพื่อให้เพียงพอกับประชากรไทย 66.09 ล้านคน คณะกรรมการที่ปรึกษาของคณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ หรือ เอ้กบอร์ด คิดคำนวณการบริโภคไข่ไก่เฉลี่ยคนละ 229 ฟองต่อปี หรือ 41.5 ล้านฟองต่อวัน จะต้องมีผลผลิตไข่ไก่ 14,965-15,330 ล้านฟองต่อวัน และต้องมีแม่ไก่ไข่ยืนกรง ประมาณ 50-51 ล้านตัว ภายใต้มาตรการรักษาเสถียรภาพราคาไข่ไก่ เพื่อไม่ให้กระทบกับเกษตรกร ในช่วงไข่ไก่ล้นตลาด หรือช่วงที่ความต้องการบริโภคลดลง เช่น ช่วงปิดเทอม และเทศกาลกินเจ

ไข่ไก่ก็คล้ายกับสินค้าอื่น ๆ ที่ช่วงไหนปริมาณมีน้อยกว่าความต้องการ ราคาก็ปรับสูงขึ้น และเมื่อความต้องการน้อย ราคาจะทยอยลดลง ส่วนกลไกแฝง ประเด็นนี้ยังรอผู้ให้ข้อเท็จจริงกันอยู่ ก็ยังคงต้องเสาะหาความจริงกันต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง