ภาพเก่าเล่าเรื่อง : 11 กรกฎาคม 2540 ทะเลเพลิงพัทยา โรงแรมรอยัลจอมเทียนรีสอร์ต ปัญหาระบบป้องกันอัคคีภัย
.
ภาพข่าว 11 กรกฎาคม 2540 เพลิงไหม้ โรงแรมรอยัล จอมเทียน
.
เวลาประมาณ 10:00 น. ขณะที่มีนักท่องเที่ยวและผู้เข้าร่วมงานสัมมนาในห้องจัดเลี้ยงของโรงแรม รอยัล จอมเทียน รีสอร์ต มากกว่า 500 คน จู่ ๆ เกิดเพลิงไหม้จากห้องครัวชั้นล่าง ใกล้ร้านกาแฟ ผ่านไปไม่นานเพลิงก็ลุกลามขึ้นไปยังชั้นบน
.
เจ้าหน้าที่ระดมรถดับเพลิงจากทั่วทุกสารทิศ เข้าควบคุมเหตุ และใช้รถกระเช้าเข้าช่วยเหลือผู้ที่ติดอยู่ในอาคาร มีนักท่องเที่ยวส่วนหนึ่งถูกช่วยเหลือออกมาได้ แต่ก็ยังมีอีกหลายคนที่โบกมือขอความช่วยเหลือจากหน้าต่างและชั้นดาดฟ้าของโรงแรม โดยมีเฮลิคอปเตอร์จากฐานทัพเรือสัตหีบและกองบินตำรวจ เข้าสำรวจพื้นที่และช่วยเหลือผู้ที่ติดอยู่บนดาดฟ้า ขณะนั้นเพลิงลุกลามไปจนถึงชั้น 8 จากจำนวนทั้งหมด 16 ชั้น
.
การช่วยเหลือผู้ที่ติดค้างอยู่ภายในโรงแรมเป็นไปด้วยความยากลำบากเพราะกลุ่มควันยังหนาแน่น มีผู้สำลักควันไฟอยู่จำนวนมาก ถูกนำส่งโรงพยาบาลหลายแห่งในพัทยา ขณะที่เฮลิคอปเตอร์อพยพผู้ที่อยู่บนดาดฟ้า ลงมาอีกนับร้อยชีวิต
.
ผ่านไป 2 ชั่วโมงผ่านไปหลังเกิดเพลิงไหม้ เปลวเพลิงบริเวณชั้นล่างเริ่มเบาบางลง ส่วนเจ้าหน้าที่ สามารถเข้าไปสำรวจได้บางส่วน แต่หลังจากผ่านไป 3 ชั่วโมงตั้งแต่เกิดเหตุ เพลิงยังไม่มีท่าทีว่าจะสงบลง แต่กลับลุกลาม ขึ้นไปทุกชั้นของโรงแรม แม้เจ้าหน้าที่จะระดมฉีดน้ำดับเพลิงกันอย่างต่อเนื่อง สุดท้ายผ่านไป 6 ชั่วโมง เจ้าหน้าที่จึงสามารถควบคุมเปลวเพลิงเอาไว้ได้ เหลือเพียงกลุ่มควันที่ยังพวยพุ่งขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ
.
12 กรกฎาคม 2540 ผ่านพ้นคืนแรก หลังจากเกิดเหตุเพลิงไหม้เพลิงไหม้ยุติลง เมื่อเวลา 11:00 น. เจ้าหน้าที่จึงสามารถเริ่มปฏิบัติการกู้ชีพกู้ภัยภายในโรงแรมได้ ขณะเดียวกัน ตำรวจควบคุมตัว นายจำเนียร พนักงานห้องครัวของโรงแรมมาสอบปากคำ ให้การว่าก่อนเกิดเหตุได้กลิ่นก๊าซลอยฟุ้งอยู่ภายในห้องครัวจึงเข้าไปตรวจสอบ พบว่ามีก๊าซพุ่งออกมาจากถังใบหนึ่ง จึงพยายามที่จะปิดวาล์ว แต่เกิดเปลวเพลิงลุกไหม้อย่างรุนแรง ตำรวจจึงดำเนินคดีนายจำเนียร ในข้อหา กระทำการโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นเสียชีวิต และยังติดตามตัว นายสมนึก หัวหน้าห้องอาหาร และนายขยัน ผู้เห็นเหตุการณ์มาสอบปากคำเพิ่ม ส่วนผู้บริหารโรงแรมถูกดำเนินคดีเรื่องระบบป้องกันอัคคีภัยที่ไม่ได้มาตรฐาน
.
หนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากจากโศกนาฏกรรมครั้งนี้ เจ้าหน้าที่พบว่าประตูทางออกเกือบทั้งหมดถูกใส่กุญแจไว้ทำให้ผู้ที่อยู่ในห้องสัมมนา ไม่สามารถหลบหนีออกมาได้ขณะเกิดเหตุ ซึ่งโรงแรมหรู 16 ชั้นแห่งนี้ มีมูลค่านับพันล้านบาท ถูกออกแบบมาให้มีทั้งบันไดหนีไฟ สัญญาณเตือนเพลิงไหม้ และระบบสปริงเกอร์ฉีดน้ำอัตโนมัติ อุปกรณ์เพียบพร้อมตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.ควบคุมการก่อสร้างอาคารสูงฯ และยังเพิ่มระบบรักษาความปลอดภัยสำหรับแขกทุกคนที่เข้าพักด้วยระบบไฟฟ้า เปิด-ปิด ล็อคประตูแทนการใช้กุญแจ แต่ผู้รอดชีวิตยืนยันว่า ขณะเกิดเหตุภายในโรงแรมไม่มีเสียงสัญญาณเตือนไฟ ไม่มีหัวฉีดน้ำสปริงเกอร์ที่ติดตั้งบนเพดานตัวไหนทำงาน และ ระบบเปิดปิดล็อกประตูด้วยไฟฟ้าไม่สามารถใช้การได้เพราะระบบไฟฟ้าขัดข้อง
.
อีกสิ่งสำคัญคือบันไดหนีไฟ เมื่อผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์พบว่า บันไดไม่ได้ถูกติดตั้งอยู่ด้านนอกตัวอาคาร แต่กลับถูกสร้างเอาไว้ด้านใน เมื่อเกิดเหตุ ความมืดและกลุ่มควันเป็นอุปสรรคในการค้นหาบันไดหนีไฟ ผู้ที่อยู่ในอาคารไม่สามารถหนีออกมาได้
.
เหตุการณ์ครั้งนั้น มีผู้เสียชีวิตกว่า 90 คน บาดเจ็บอีกกว่า 60 คน