ผู้ตรวจการแผ่นดิน ยืนยันใช้อำนาจอย่างเที่ยงธรรม ส่งศาล รธน.ตีความมติรัฐสภา

ผู้ตรวจการแผ่นดิน ยืนยันใช้อำนาจอย่างเที่ยงธรรม ส่งศาล รธน.ตีความมติรัฐสภา

View icon 1.3K
วันที่ 28 ก.ค. 2566 | 15.17 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ยืนยันใช้อำนาจอย่างเที่ยงธรรมและเป็นกลาง ส่งศาล รธน.ตีความมติรัฐสภา วันที่ 19 ก.ค.66 ห้ามเสนอชื่อบุคคลเป็นนายกฯซ้ำ

พ.ต.ท. กีรป กฤตธีรานนท์ เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ชี้แจงถึงการตรวจสอบมติรัฐสภา วันที่ 19 ก.ค.66 ว่ารัฐธรรมนูญ กำหนดให้ผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นผู้วินิจฉัยและเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญในกรณีที่สมาชิกรัฐสภาและประชาชนยื่นเรื่องขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ว่ามติของรัฐสภาเมื่อวันที่ 19 ก.ค.66 ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของผู้ร้องเรียน นอกจากนี้ในคำร้องเรียนได้มีคำขอให้ศาลรัฐธรรมนูญกำหนดมาตรการชั่วคราว โดยขอให้มีคำสั่งชะลอการให้ความเห็นชอบบุคคลเพื่อแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีไว้ก่อน จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีการวินิจฉัยในเรื่องนี้ออกมา 

ทั้งนี้ ผู้ตรวจการแผ่นดินได้ประชุมร่วมกันเมื่อวันที่ 24 ก.ค.66 วินิจฉัยว่าคำร้องดังกล่าว เข้าองค์ประกอบ เงื่อนไข และหลักเกณฑ์ ในการเสนอคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ หากการกระทำของรัฐสภาละเมิดสิทธิเสรีภาพ ย่อมถูกตรวจสอบได้โดยศาลรัฐธรรมนูญ จึงเห็นว่าเข้าองค์ประกอบและหลักเกณฑ์ที่ผู้ตรวจการแผ่นดินจะเสนอคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเพื่อให้เป็นที่ยุติ และที่สำคัญในคำร้องเรียนผู้ร้องเรียนได้ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งชะลอการให้ความเห็นชอบบุคคลเพื่อแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีไว้ก่อน จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย

โดยผู้ร้องเรียนส่วนหนึ่งเป็นประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง และได้ใช้สิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง เป็นการแสดงเจตจำนงที่จะได้บุคคลตามบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองไปดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หากมติตีความดังกล่าวของรัฐสภาขัดต่อรัฐธรรมนูญ ย่อมก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อสิทธิของผู้ร้องเรียน และผลของการกระทำที่เป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของรัฐสภายังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง จึงกระทบต่อความมั่นคงแห่งสิทธิเสรีภาพของผู้ร้องเรียนรวมถึงประชาชนทั่วไป และยังสร้างแนวบรรทัดฐานที่ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ที่บุคคลที่ได้รับการเสนอให้รัฐสภาเห็นชอบแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในครั้งแรกแล้วไม่ได้รับความเห็นชอบจะไม่สามารถเสนอให้รัฐสภาพิจารณาซ้ำได้อีก ทำให้กระบวนการคัดเลือกแต่งตั้งบุคคลเข้าสู่ตำแหน่งไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญขัดต่อหลักความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ ส่งผลกระทบต่อสังคม เศรษฐกิจ และความเชื่อมั่นของประเทศ ดังนั้น หากไม่มีการยุติการเลือกนายกรัฐมนตรีไว้ก่อน ย่อมเล็งเห็นได้ว่าจะก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงที่ยากแก่การแก้ไขเยียวยาต่อสิทธิของผู้ร้องเรียน

ส่วนผู้ร้องเรียนซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หากรัฐสภาลงมติให้ความเห็นชอบบุคคลใดเป็นนายกรัฐมนตรีก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย แต่ต่อมาภายหลังแม้ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยว่าการกระทำของรัฐสภาขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ แต่ผู้ร้องเรียนก็ไม่อาจจะใช้สิทธิลงคะแนนเลือกบุคคลที่ได้เคยเสนอชื่อต่อรัฐสภาได้อีกต่อไป ดังนั้น จะก่อให้เกิดความเสียหายเช่นเดียวกัน

เมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่ามีเหตุอันมีน้ำหนักรับฟังได้ มีเหตุผลสนับสนุนเพียงพอ และเป็นคำขอที่อยู่ในหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญพ.ศ. 2561 มาตรา 71 จึงเห็นพ้องกับคำร้องเรียนที่จะขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณามีคำสั่งให้รัฐสภาชะลอการดำเนินการเกี่ยวกับการเสนอชื่อบุคคลให้รัฐสภาเห็นชอบเพื่อแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีไว้ก่อนจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญมีข้อวินิจฉัยในเรื่องนี้ออกมา ซึ่งก็เป็นดุลยพินิจของศาลรัฐธรรมนูญที่จะพิจารณาตามความเหมาะสมกับข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ต่อไป