กรมที่ดินยืนยันข้อมูลไม่รั่ว ย้ำไม่มีอำนาจเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

กรมที่ดินยืนยันข้อมูลไม่รั่ว ย้ำไม่มีอำนาจเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

View icon 297
วันที่ 11 ส.ค. 2566 | 18.54 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
กรมที่ดินยืนยันข้อมูลไม่รั่ว ย้ำไม่มีอำนาจเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง แฉกระบวนการคนร้ายพร้อมแนะวิธีป้องกันเบื้องต้น

กรมที่ดิน ตรวจสอบแก๊งหลอกโอนเงิน วันนี้(11 ส.ค.2566) นายวสันต์ สุภาภา รองอธิบดีกรมที่ดิน เปิดเผยถึงความคืบหน้าจากการประชุมกรณีที่แก๊งคอลเซนเตอร์นำข้อมูลไปหลอกลวงประชาชนแล้วโอนเงินผ่านโทรศัพท์มือถือว่า เบื้องต้น คณะกรรมการตรวจสอบจากเคสที่ผ่านมา ไม่อาจทราบได้ว่าได้ข้อมูลจากส่วนใดไป แต่ในส่วนของกรมที่ดิน ไม่พบการเข้ามาเจาะระบบเพื่อนำข้อมูลออกไปแต่อย่างใด ยืนยันว่าไม่มีข้อมูลรั่วไหลออกจากกรมที่ดิน และไม่พบเจ้าหน้าที่รายใดที่นำข้อมูลออกไปให้มิจฉาชีพ

ส่วนวิธีการของมิจฉาชีพนั้น จะหลอกลวงให้ประชาชนแอดไลน์เพื่อกดลิงก์ให้โหลดแอปพลิเคชัน โดยเริ่มต้นการสนทนาเรื่องภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งกรมที่ดิน ไม่มีอำนาจหน้าที่ในการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เพราะเป็นอำนาจของหน่วยงานท้องถิ่น รวมถึงการโทรศัพท์ไปขอให้อัปเดตข้อมูล หรือขอเอกสารสิทธิ์ทั้งอาคารชุดหรือหมู่บ้านจัดสรร ยืนยันว่าข้อมูลไม่ได้รั่วจากกรมที่ดิน ข้อย้ำเตือนหากจะโหลดแอปของกรม ให้โหลดผ่านแอปสโตร์หรือเพลย์สโตร์เท่านั้น ส่วนช่องทางอื่นอย่าโหลดเด็ดขาด

ที่ผ่านมาได้รับคำร้องเรียนจากประชาชนทั้งมางโทรศัพท์มือถือและเข้ามาร้องเรียนด้วยตนเองกว่า 3,000 ราย ยินยอมให้เปิดเผยข้อมูลประมาณ 17 ราย มูลค่าความเสียหายประมาณ 6.5 ล้านบาท ซึ่งเหตุการณ์เริ่มต้นช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา กรมที่ดินจึงตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อตรวจสอบทุกเคสที่เกี่ยวกับกรณีนี้ ไม่พบว่ามีข้อมูลหลุดออกไปและไม่มีการขายข้อมูลแต่อย่างใด

ทั้งนี้ รองอธิบดีกรมที่ดิน เน้นย้ำว่า กรมที่ดิน ไม่มีการติดต่อประชาชนผ่านโทรศัพท์หรือแอดไลน์ แต่อย่างใด และไม่มีอำนาจจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง แต่ยอมรับว่าข้อมูลบางส่วนมีการเปิดเผยแก่สาธารณชน โดยพัฒนาแอปพลิเคชัน Landsmaps โฉนดกว่า 30 ล้านแปลง อยู่ในแอปพลิเคชันนี้ โดยเน้นย้ำให้โหลดผ่านแอปสโตร์ หรือ เพลย์สโตร์ เท่านั้น โดยจะอำนวยความสะดวกในหลายด้าน เช่น การเสนอขายที่ดิน ก็สามารถตรวจสอบผ่านแอปฯ ดังกล่าวได้โดยไม่ต้องติดต่อกรมที่ดิน แต่ไม่ได้เปิดเผยข้อมูลทั้งหมด 100% ซึ่งมิจฉาชีพอาจอาศัยช่องทางนี้ สร้างแอปฯ อื่นขึ้นมาหลอกลวงประชาชน ซึ่งกรมที่ดิน จะวางมาตรการแก้ไขปัญหาส่วนนี้ต่อไป 

ด้าน พ.ต.อ.ณัทกฤช พรหมจันทร์ ผอ.สำนักปฏิบัติการ สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ หรือ สกมช. กล่าวว่า จากการตรวจสอบพบว่า กรมที่ดิน เป็นหนึ่งในเหยื่อที่ถูกมิจฉาชีพปลอมแปลงช่องทางโซเชียลมีเดีย โดยสถิติตั้งแต่เดือนตุลาคม 2565 พบว่ามีหน่วยงานกว่า 50 หน่วยงานโดนมิจฉาชีพปลอมแปลงในลักษณะนี้ ข้อสังเกตสำคัญคือให้ตรวจสอบโดเมน หรือ URL จากลิงก์ที่ถูกส่งมาโดยมิจฉาชีพจะลงท้ายด้วย .cc หรือมี - แต่หน่วยงานราชการเว็บส่วนใหญ่จะลงท้ายด้วย .go.th และหน่วยงานราชการจะไม่พูดคุยติดต่อผ่านโทรศัพท์

ผอ.สำนักปฏิบัติการ สกมช. ย้ำว่า วิธีการของมิจฉาชีพ หากเราโหลดแอปพลิเคชันมาแล้ว ไม่ได้แปลว่าเราโดนดูดเงินทันที แต่คนร้ายจะรีโมตมาควบคุมเครื่องโทรศัพท์ของเหยื่อได้ แล้วถูกหลอกลวงให้กดรหัสผ่านเข้าเครื่อง 6 หลัก ซึ่งรหัสนั้น ส่วนใหญ่มักจะถูกนำไปใช้เป็นรหัสเข้าแอปพลิเคชันธนาคารด้วย หากเรากดรหัส PIN จำนวน 6 หลักให้คนร้าย คนร้ายก็จะนำรหัสนั้น ไปใช้เข้าแอปฯ ธนาคารอีกทอดหนึ่งเพื่อโอนเงินโดยที่หน้าจอจะขึ้นโชว์ว่า ขอให้รอ หรือ อยู่ระหว่างดำเนินการ ซึ่งคนร้ายจะใช้เวลานั้นในการโอนเงิน ซึ่งวิธีแก้ไขเบื้องต้น คือ ตัดการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต หรือ ปิดโทรศัพท์ ก็จะแก้ไขได้ในเบื้องต้น