ความฝันของผู้ป่วย มะเร็งในวัย 24 ปี เพจหมอคนสุดท้ายอธิษฐานให้การรักษาราบรื่น

ความฝันของผู้ป่วย มะเร็งในวัย 24 ปี เพจหมอคนสุดท้ายอธิษฐานให้การรักษาราบรื่น

View icon 321
วันที่ 13 ส.ค. 2566 | 15.53 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
ฝันอยากจะมีเวลาอีกนานเท่าไหร่ เพจหมอคนสุดท้าย เปิดเผยเป็นวิทยาทาน ความสุขอาจเริ่มต้น รู้จักคำว่า “รักตัวเอง” คนไข้อายุ 24 ปี มะเร็งระยะแพร่กระจาย ภูมิใจได้กราบเท้า ได้ขอโทษพ่อแม่ ฝันอยากบวชเพื่อทดแทนคุณ ขณะที่พ่อเผยลูกชายใช้ชีวิตโลดโผน เลิกเรียนตอน ม.2 แต่ไม่เคยโกรธลูก อยากให้ลูกหาย พ่อแม่ยังคงหวังดีกับลูกเสมอ

ข้อความตอนหนึ่งจากเพจหมอคนสุดท้าย ระบุว่า หลายครั้งที่หมอถามกับคนไข้ว่า “คุณปรารถนาอยากจะมีชีวิตยาวนานเท่าไหร่ บางคนบอกว่า 100 ปี บางคนก็ว่า 80 ปี บางคนก็อยากอยู่ถึง 75 ปี บางคนบอกว่าแค่ 60 ปีก็เพียงพอแล้ว หมอยังไม่เคยได้ยินใครบอกว่าอยากจากโลกใบนี้ไปก่อนอายุ 60 ปีเลย หลายครั้งที่จะมีชีวิตยาวนานอย่างที่ฝันไว้ “ไม่มี” โอกาสเป็นไปได้เลย

คนหนึ่งความฝันที่จะอยู่ถึง 80 ปี แต่ต้องมาป่วยเป็นมะเร็งระยะสุดท้ายตอนอายุ 70 ปี อีกคนความฝันที่จะเห็นลูกรับปริญญาในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า แต่เวลาเหลือเพียงเป็นสัปดาห์ บางคนรอการได้พบกับใครคนหนึ่ง แม้เพียงวันเดียวก็เป็นไปไม่ได้ ถ้าไม่ได้มีเวลายาวนานอย่างที่หวังไว้จริง ๆ เราจะเป็นอย่างไรนะ?

“สอง” เป็นนามสมมติของคนไข้ ซึ่งยินดีให้หมอนำเรื่องราวไปเป็นวิทยาทานให้คนอื่น “สอง” เป็นชายหนุ่มวัย 24 ปี ผู้ป่วยที่ใครๆ ก็บอกว่าเข้าถึงยาก หมอบอกกับเขาว่าเป็น “มะเร็งระยะแพร่กระจาย ยากที่จะรักษาให้หายได้”  คำตอบที่ได้ยินจาก “สอง” คือ มมต้องหายเท่านั้น” แน่ล่ะในวันที่อายุเพียง 24 ปี ใครจะเตรียมใจพร้อม “ตาย” แต่ละวันที่หมอและทีมไปเยี่ยมอาการ จะเป็นการถามคำ ตอบคำ

ทีมประคับประคองจึงพยายามที่จะรู้จักคนไข้ ผ่านครอบครัวของเขา คุณพ่อเล่าให้ฟังว่า “ขาเป็นคนเก็บตัว ไม่ค่อยคุยกับใคร แต่ดื้อ ส่วนใหญ่ตากับยายเลี้ยง เพราะพ่อแม่ต้องออกไปทำงานเลี้ยงครอบครัว แต่ “สอง” ไม่เคยสร้างความเดือดร้อนให้ใครช่วง ม.2 เขาออกจากโรงเรียน เพราะไม่อยากเรียน พ่อแม่ก็ไม่ได้บังคับ จึงกลับมาอยู่บ้าน หลังจากนั้นก็เริ่มติดเพื่อน สูบบุหรี่ แต่ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ ออกไปเที่ยวกลางคืน จนมีเมียและมีลูกตอนอายุ 17 ปี หลังจากนั้นเขาก็ไปทำงาน แล้วก็เลิกกับเมียไป แล้วก็มีคนใหม่อีก ต่อมาเขาถูกจับต้องคดีค้ายาเสพติด เพิ่งออกมาได้ไม่นาน

“หลังจากนั้นก็เริ่มป่วยเป็นมะเร็ง พ่อไม่เคยโกรธเลย อยากให้ลูกหาย พ่อแม่ยังคงหวังดีกับลูกเสมอ จากชายหนุ่มที่เคยใช้ชีวิตอย่างโลดโผน ตอนนี้กลายเป็นผู้ป่วยที่ผอมแห้ง จะช่วยเหลือตัวเองก็ยังลำบาก”

ส่วนข้อความที่คนไข้บอกกับหมอ คือ ผมเป็นคนพูดน้อย เพราะผมระวังคำพูด ไม่อยากพูดทำร้ายใคร คนอื่นก็คงมองว่าผมเป็นคนไม่ดี ผมมีปัญหากับเพื่อนนิดหน่อย ผมไม่ได้อยากออกจากโรงเรียน แต่ใครๆ ก็ตำหนิผม ผมก็เลยไม่อยากไปเรียน ส่วนเหตุการณ์ที่ทำให้ต้องเข้าสู่วงการค้ายาเสพติด เพราะผมเกรงใจเขา ผมไม่กล้าปฏิเสธ เพราะเขามีบุญคุณกับผม

“สิ่งที่ได้เรียนรู้จากชีวิตที่ผ่านมาคือ ต้องรู้จักปฏิเสธคน ระวังการใช้ชีวิตมากขึ้น ผมเรียนรู้กับสิ่งที่ผ่านมา และชอบแก้ปัญหา พอป่วยเป็นมะเร็งแล้ว ผมอยู่กับความเป็นจริง ผมเข้าใจโลก ไม่อยากตายก็ต้องตายอยู่ดี เราไม่ต้องอยู่กับความคิด คิดเยอะไปก็เท่านั้น อยู่กับความจริงดีที่สุด” ถ้อยคำที่คนไข้ บรรจงเขียนขึ้นมาเพราะเขาพูดลำบากจากตัวโรค

ข้อความตอนหนึ่ง เพจหมอคนสุดท้ายระบุด้วยว่า หมอได้ถามคนไข้ว่าอยากกลับไปแก้ไขอะไรที่ผ่านมาไหม คนไข้ตอบว่า “ไม่” เรียนรู้ที่ผ่านมา ผมชอบอ่านหนังสือพวกนักปราชญ์ พัฒนาตัวเองจะได้ไม่โง่อีก เมื่อถามเขาว่าหลังจากนี้ไปอยากทำอะไรมากที่สุด คำตอบที่ได้รับคือ “อยากบวชให้พ่อกับแม่” ไม่ใช่เพราะรู้สึกผิดต่อพ่อแม่กับสิ่งที่ผ่านมา แต่อยากบวชทดแทนบุญคุณ และสิ่งที่ทำให้รู้สึกภาคภูมิใจในชีวิต คือ ได้กราบเท้าพ่อกับแม่ ได้ขอโทษพ่อกับแม่ นั่นเป็นความภูมิใจ และการฝ่ากำแพงที่ใหญ่ที่สุดในชีวิต จากนี้ผมจะใช้ชีวิตอย่างดี และมีความสุข นั่นคือคำพูดที่เปี่ยมไปด้วยพลังของคนไข้

64d89fc9cdad04.48347833.jpg

หลังจากผลตรวจชิ้นเนื้อออกมา หมอแจ้งกับคนไข้ว่า หมอมะเร็งบอกว่าโรคที่คนไข้เป็นมีโอกาสรักษาหายได้ถึง 40-50% คนไข้พูดออกมาทันทีว่า “สู้” พร้อมหัวเราะอย่างมีความสุข แต่หากการรักษาไม่ได้เป็นไปอย่างที่หวังไว้ “อย่ายื้อให้ทรมาน ปล่อยผมไปตามธรรมชาติ”

“หากหมอต้องตัดสินใจเกี่ยวกับความตายในวัย 24 ปี หมอรู้ว่ามันคงไม่ง่ายสำหรับตัวเองเลย คนไข้เขาสอนให้หมอใจดีกับตัวเองมากขึ้น แม้เราจะผิดพลาดอะไรไปบ้างก็ “ให้อภัยตัวเอง” ให้ใช้ชีวิตอย่างมีสติมากขึ้น บางทีความสุขที่สุดในชีวิตอาจเริ่มต้นจากเรารู้จักคำว่า “รักตัวเอง” แล้วคุณล่ะ ฝันอยากจะมีเวลาอีกนานเท่าไหร่? หมอขออธิษฐานให้การรักษาราบรื่นและได้ชีวิตในรูปแบบที่ตัวเองอยากใช้นะ” หมอคนสุดท้าย