สนามข่าวเสาร์-อาทิตย์ - ข้าวสารแบ่งจำหน่าย หรือ "ข้าวตัก" หลายพื้นที่ ตอนนี้ปรับราคาเพิ่มขึ้นแล้ว แม้ก่อนหน้านี้ กรมการค้าภายใน จะเจรจาขอตรึงราคาจำหน่ายกับผู้ประกอบการข้าวสารบรรจุถุงได้สำเร็จ
ข้าวตักขึ้นราคาทั่วประเทศ
ไปสำรวจราคาขายข้าวสาร ในอำเภอเมือง จังหวัดชัยนาท พบว่า ข้าวสารบรรจุถุง มีการปรับราคาเพิ่มขึ้น 5 - 10 % ผู้ค้าบอกลูกค้ายังซื้อข้าวเหมือนเดิมก็จริง แต่ก็มีบ่น ๆ กันบ้าง เพราะบางคนจากที่เคยซื้อข้าวสารหอมมะลิ 1 ถัง หรือ 15 กิโลกรัม ราคา 340 บาท ก็ต้องยอมจ่ายเพิ่มขึ้น เป็นถังละ 380 บาท ส่วนข้าวแข็งที่ไว้ใช้หุงเลี้ยงสัตว์ จากที่เคยซื้อถังละ 230 บาท 255 บาท ตอนนี้ปรับขึ้นเป็นถังละ 290 บาท
ช่วงนี้ลูกค้าที่มาซื้อข้าวสารที่ร้านนั้นก็มีบางรายที่เข้าใจ และมีบางรายที่เริ่มซื้อน้อยลง เพราะข้าวสารที่ปรับราคาขึ้นเยอะที่สุดก็จะเป็นกลุ่มข้าวแข็ง ส่วนข้าวหอมมะลินั้นยังปรับขึ้นมาไม่มาก พบว่า หลายพื้นที่ ราคาข้าวสารแบ่งจำหน่าย หรือ "ข้าวตัก" ขยับราคาสูงขึ้น โดย ข้าวขาว ปรับขึ้นราคาเฉลี่ย กิโลกรัมละ 3 บาท, ข้าวหอมปทุม เฉลี่ยกิโลกรัมละ 2 บาท, ข้าวหอมมะลิ กิโลกรัมละ 1 - 2 บาท ส่วนราคาข้าวเหนียวปรับขึ้นมากที่สุด กิโลกรัมละ 8 - 10 บาท โดยผู้ค้าบอกว่า ราคาทยอยปรับขึ้นมาตั้งแต่ต้นเดือนกรกฎาคมแล้ว บางวันเช้าปรับขึ้นกิโลกรัมละ 1 บาท เย็นปรับขึ้นราคาอีก 1 บาท ถือว่าราคาขยับขึ้น เฉลี่ยรายวัน เป็นไปตามราคาที่ซื้อมาจากโรงสีข้าว และมีแนวโน้มว่าราคาข้าวสารจะปรับขึ้นไปอีก ตามราคาข้าวส่งออกที่มีความต้องการให้ตลาดโลกมากขึ้น
ด้าน นายสมชาย พรรัตนเจริญ นายกสมาคมค้าส่ง-ปลีกไทย เผยสถานการณ์ราคาสินค้าในระยะนี้ สินค้าที่มีแนวโน้มปรับขึ้นราคาคือ ข้าวสาร โดยเฉพาะ ข้าวขาว ข้าวเสาไห้ เนื่องจากวิกฤตภัยแล้งจากสถานการณ์เอลนีโญ และปัญหาการงดส่งออกข้าวของอินเดีย ทำให้ราคาตลาดข้าวโลกผันผวน ส่วนภาพรวมราคาสินค้าอุปโภคบริโภคอื่น ยังไม่พบสัญญาณการปรับขึ้นราคาในช่วงนี้ อาจเป็นเพราะก่อนหน้านี้ทยอยขึ้นราคาไปหลายรายการแล้ว ส่งผลให้กำลังซื้อลดลงตามไปด้วย
ส่วนสินค้าที่มีการปรับราคาลงจากช่วงก่อนหน้า เช่น ปลากระป๋อง ปรับราคาลงเฉลี่ยลดลง 50 สตางค์ - 1 บาทต่อกระป๋อง ขณะที่ยอดขายยังทรงตัว
ล้งกดราคารับซื้อมังคุดใต้
ขณะที่ มังคุด ก็ถูกล้งในพื้นที่ กดราคารับซื้อ ราคามังคุดเริ่มดิ่งจากกิโลกรัมละ 130 - 150 บาท ลดเหลือกิโลกรัม 50 บาท ล่าสุดกรมการค้าภายใน ลงพื้นที่ไปช่วยแก้ปัญหา ไปพร้อมกับผู้ประกอบการห้างค้าส่งค้าปลีกขนาดใหญ่ ตลาดกลาง และผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้าท้องถิ่น เพื่อเข้าไปรับซื้อผลผลิต จากกลุ่มเกษตกรแปลงใหญ่ ปริมาณกว่า 12,000 ตัน ซึ่งจะเป็นการช่วยค้ำราคา และสร้างความมั่นใจให้เกษตรกร ว่ามังคุดที่ผลิตถ้ามีคุณภาพจะมีผู้ประกอบการมารับซื้อแน่นอน และเป็นการช่วยผลักดันผลผลิตส่วนเกินออกจากตลาดไปในช่วงนี้