เศรษฐา ผ่านฉลุย สว.ไฟเขียวโหวตนั่งนายกฯ

View icon 57
วันที่ 23 ส.ค. 2566 | 06.31 น.
เช้านี้ที่หมอชิต
แชร์
เช้านี้ที่หมอชิต - ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภาเมื่อวานนี้ เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่มี นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม ปรากฏว่า นายเศรษฐา ทวีสิน ได้รับความเห็นชอบจากสมาชิกรัฐสภา ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 30

เศรษฐา ผ่านฉลุย สว.ไฟเขียวโหวตนั่งนายกฯ
นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว สส.น่าน และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เป็นผู้เสนอชื่อ นายเศรษฐา ทวีสิน พร้อมกับมีผู้รับรองชื่อถูกต้อง จากนั้น นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ได้เปิดโอกาสให้สมาชิกทั้ง สส. และ สว. อภิปรายเกี่ยวกับคุณสมบัติของนายเศรษฐากันอย่างกว้างขวาง เป็นเวลา 5 ชั่วโมง จากนั้นในเวลา 15.15 น. ได้เริ่มเข้าสู่ขั้นตอนการลงคะแนน ด้วยวิธีการขานชื่อสมาชิกรัฐสภา เรียงตามตัวอักษรทีละคน ว่าเห็นชอบ หรือไม่เห็นชอบ และงดออกเสียง

จากนั้นในเวลา 17.35 น. หลังจากการลงคะแนนของสมาชิกรัฐสภาแล้วเสร็จครบทุกคน นายพรเพชร วิชิตชลชัย รองประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานที่ประชุม ได้แจ้งผลการลงคะแนน ดังนี้ เห็นชอบ 482 เสียง ไม่เห็นชอบ 165 เสียง งดออกเสียง 81 เสียง เป็นอันว่านายเศรษฐา ได้รับเสียงเห็นชอบมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกรัฐสภา 747 คน จึงถือได้ว่ามติที่ประชุมเห็นชอบนายเศรษฐา ได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 ของประเทศไทย

มีตัวเลขที่น่าสนใจในการโหวต คือ พรรคก้าวไกล โหวตไม่เห็นชอบทั้ง 149 คนที่เหลืออยู่, พรรคประชาธิปัตย์ ไม่เห็นชอบ 2 เสียง คือ นายชวน หลีกภัย และนายบัญญัติ บรรทัดฐาน แม้ว่ามติพรรคคืองดออกเสียง แต่ระบุว่าได้แจ้งที่ประชุมของพรรคแล้ว เนื่องจากเป็นคำสัญญาให้กับพี่น้องภาคใต้ ส่วนอีก 1 เสียงที่ไม่เห็นชอบ คือ นายกัณวีร์ สืบแสง จากพรรคเป็นธรรม ระบุว่า ไม่สามารถลดเกียรติของตนเองที่ได้รับความไว้วางใจจากประชาชน ให้ความเห็นชอบ นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรีได้ ไม่ใช่ว่ามีข้อกังขาในตัวนายเศรษฐา แต่เป็นเรื่องหลักการในการได้มาซึ่งอำนาจฝ่ายบริหาร ซึ่งผิดเจตนารมณ์ของประชาชนส่วนใหญ่ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างที่ไม่เป็นธรรมในทุกด้าน

กิตติศักดิ์-ประวิตร-เฉลิม ไม่โหวตนายกฯ  
ส่วนอีกประเด็นที่น่าสนใจในที่ประชุมสภาเมื่อวานนี้ ขาดตัวละครทางการเมืองที่น่าสนใจ 3 คน คนแรก คือ นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ สมาชิกวุฒิสภา ที่แสดงจุดยืนก่อนหน้านี้ว่าจะไม่โหวตให้นายเศรษฐาอย่างแน่นอน พร้อมกับเคยฟันธงว่า นายกรัฐมนตรีไม่ใช่คนของพรรคเพื่อไทย แต่จู่ ๆ เมื่อวานนี้ก็ไม่เดินทางมาสภา และมีการเปิดเผยกับสื่อมวลชนในภายหลังว่า ไม่สามารถไปร่วมลงมติได้ เพราะติดภารกิจต้องไปเคลียร์คดีที่วัดบางคลาน จังหวัดพิจิตร ซึ่ง พลตำรวจเอก สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มาลงพื้นที่พอดี ตนจึงกลับไปไม่ทันการลงมติดังกล่าว

อีกรายที่มีข่าวว่ามีปัญหาสุขภาพ คือ นายเฉลิม อยู่บำรุง สส.พรรคเพื่อไทย คนนี้ไม่น่ามีอะไรให้ต้องตั้งคำถาม แต่อีกคนที่ไม่มาปรากฏตัวที่สภา คือ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ถึงแม้ สส.พลังประชารัฐที่เหลืออีก 39 คน จาก 40 คน จะลงมติเห็นชอบทั้งหมด แต่ก็ทำให้สื่อโยงไปตั้งคำถามกับกระแสข่าวก่อนหน้านี้ว่า อาจมีความขัดแย้งเรื่องโผรัฐมนตรี ที่จำนวน สส.มากกว่าพรรครวมไทยสร้างชาติ แต่กลับได้จำนวนโควตารัฐมนตรีเท่ากันคือ 4 ที่นั่ง ซึ่งเรื่องนี้ต้องไปตามต่อว่าข้อเท็จจริงที่ พลเอกประวิตรไม่เข้าร่วมโหวตนายกรัฐมนตรีคืออะไร 

สำหรับ นายเศรษฐา ขณะนี้ได้รับเสียงโหวตเห็นชอบจากสภาแล้ว ต้องรอพิธีรับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ซึ่งยังไม่ได้กำหนดวัน และเวลาที่ชัดเจนในขณะนี้