วิจารณ์สนั่น งบอาหารกลางวันนักเรียน กับ ค่าอาหาร สส.

View icon 61
วันที่ 9 ก.ย. 2566 | 05.09 น.
สนามข่าวเสาร์-อาทิตย์
แชร์
สนามข่าวเสาร์-อาทิตย์ - เมื่อวานนี้นำเสนอเรื่องที่ดรามาขนอาหารเหลือจากประชุมสภาฯ กลับ คราวนี้ชาวเน็ตวิจารณ์สนั่น เมื่อมีการทำภาพเปรียบเทียบ งบอาหารกลางวันนักเรียน กับค่าอาหาร สส.

ภาพนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในโลกออนไลน์ เมื่อผู้ใช้ Facebook The Common Thread ช่องยูทูบเล่าเรื่องลึกลับในอดีต โพสต์ภาพเปรียบเทียบระหว่าง งบอาหารกลางวันนักเรียนไทย กับค่าอาหารสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 

ฝั่งแรกคือ อาหารนักเรียนเป็นถาดหลุม มีข้าวกะเพรา ไข่ดาว 1 ชิ้น ไก่ย่าง 1 ชิ้น และขนมปังครึ่งชิ้น งบประมาณ 21 บาท/วัน ส่วนอีกฝั่งเป็นงบประมาณอาหารของสมาชิกสภาฯ มีป้ายกำกับไว้ว่า 8xx ต่อวัน ซึ่งเป็นภาพอาหารที่มีความหรูหรา และปริมาณมากกว่า

ข้อความว่า คิดถึงคำพูดของอาจารย์ป๋วยที่บอกว่า ถ้าเราไม่สามารถเจียดเงินมาเพื่อการศึกษา ก็ไม่น่าจะสามารถเจียดเงินไปสำหรับเรื่องอื่น เพราะปัญหาอื่น ๆ เช่น อาชญากรรม วัยรุ่น การปกครองประชาธิปไตย หรือแม้แต่การเศรษฐกิจและการผลิตต่ำ ปัญหาเหล่านี้จะป้องกันแก้ไขไม่ได้ ถ้าเราไม่ยอมลงทุนในสิ่งที่ประเสริฐที่สุดคือ คน

โลกออนไลน์ก็วิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับความแตกต่างงบค่าอาหาร มีพ่อแม่เด็กเข้ามาแสดงความเห็นว่า คิดถึงคำที่ลูกพูดว่า แม่หนูกินข้าวกลางวันที่โรงเรียนไม่อิ่ม บางคนบอกในภาพนี้ของนักเรียน ยังเยอะกว่าความเป็นจริงด้วย

มีความเห็นบอกว่า ให้ทบทวนเรื่องยกเลิกงบประมาณค่าอาหารกลางวันสมาชิกสภาฯ เงินเดือนเป็นแสน ซื้ออาหารรับประทานเอง คงไม่ลำบากเกินไป บ้างก็บอกว่าใช้ระบบการลงทะเบียนแจ้งยอด เพื่อให้ฝ่ายครัวเตรียมอาหารให้พอดี ไม่เหลือทิ้งมากมายขนาดนี้

ทีนี้มาดูงบประมาณค่าอาหาร สส. ในวันประชุมสภาฯ ปี 2566 มีงบประมาณ 72 ล้านบาท ให้ 1,000 บาท ต่อคน/ต่อวัน อาหารเช้า 200 บาท, อาหารกลางวัน 400 บาท แบ่งเป็นค่าอาหาร 350 บาท น้ำ 50 บาท, อาหารเย็น 400 บาท แบ่งเป็นค่าอาหาร 350 บาท น้ำ 50 บาท ไม่รวมหากมีการประชุมเลิกดึก

ส่วนงบอาหารกลางวันนักเรียน โรงเรียนที่มีจำนวน 1-40 คน ได้คนละ 36 บาทต่อวัน โรงเรียนมีนักเรียน 121 คนขึ้นไป คนละ 22 บาทต่อวัน

นักข่าวสอบถามเรื่องนี้กับ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า จะหารือกับสำนักงานเลขาธิการสภาฯ อย่างเป็นทางการ เกี่ยวกับแนวทางบริการอาหารให้กับ สส. ส่วนตัวคิดว่าต้องยึดหลักความเหมาะสม ไม่ฟุ่มเฟือย แต่ก็ต้องให้ สส.ได้รับการบริการที่ดีด้วย ในอนาคตจะมีการปรับลดงบประมาณหรือไม่ ต้องพิจารณาอีกครั้ง ยอมรับว่ามีอาหารเหลือ แต่ทางปฏิบัติต้องเข้าใจว่าบางครั้งมีจำนวน สส.มาประชุมมาก หรือบางครั้ง สส.เดินทางกลับไปก่อน ก็ต้องร่วมหารือทุกฝ่าย เพื่อทำให้เกิดความสมดุล

ส่วนกรณีถ้ามีอาหารของสภาเหลือ เลขาธิการสภาฯแจ้งให้ทราบเบื้องต้นว่า จะนำไปบริจาคในทางสาธารณกุศล เช่น สถานรับเลี้ยงเด็ก เป็นต้น