เอกสารว่อน แจงทริปคณะหมออ๋อง บินดูงานสิงคโปร์ ใช้งบประมาณ กว่า 1,379,250 บาท ด้านหมออ๋อง เผย ที่บินชั้นธุรกิจพราะมีระเบียบกระทรวงการคลังล็อกไว้ ทั้งนี้พร้อมแสดงใบเสร็จ และจะสรุปอย่างชัดเจนว่าใช้กับเรื่องอะไรบ้าง
เอกสารว่อน แจงทริปคณะหมออ๋อง ปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 บินดูงานสิงคโปร์ ใช้งบประมาณ กว่า 1,379,250 บาท โดยมีผู้ร่วมเดินทาง 12 คน ระหว่างวันที่ 21-24 ก.ย.2566 สำหรับผู้ร่วมเดินทาง 12 คน มี สส.จำนวน 7 คน โดยเป็น สส.พรรคก้าวไกล 6 คน พรรคเพื่อไทย 1 คน ที่เหลือ 4 คน เป็นข้าราชการสังกัดสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ส่วนอีก 1 คน คือ นายไกลก้อง ไวทยการ อดีตนายทะเบียน และผู้ก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ ที่อยู่ระหว่างการตัดสิทธิทางการเมือง ซึ่งระบุว่า เป็นผู้ติดตามของ นายปดิพัทธ์ และออกค่าใช้จ่ายเอง
ในส่วนของงบประมาณที่เบิกจ่ายสำหรับ สส.1 คน อยู่ที่คนละ 114,650 บาท ส่วนของ หมออ๋อง ปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 บวกค่าใช้จ่ายในส่วน ของค่ารับรอง 200,000 บาท ค่ายานพาหนะ 150,000 บาท และค่าของที่ระลึก 30,000 บาท
สำหรับค่าตั๋วเครื่องบิน ของข้าราชการร่วมคณะได้สิทธิบินชั้นประหยัด ค่าบัตรโดยสารไป-กลับ อยู่ที่คนละ 20,000 บาท ต่างกันคนละ 31,250 บาท จึงถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า นายปดิพัทธ์ และคณะ ไม่ประหยัดงบประมาณตามนโยบายที่เคยประกาศไว้
สำหรับเรื่องดังกล่าว นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 ได้ให้สัมภาษณ์รายการหนึ่งว่า ได้เรียกเจ้าหน้าที่มา บอกว่าเดินทาง 2 ชั่วโมงครึ่ง บินด้วยสายการบินต้นทุนต่ำได้หรือไม่ เจ้าหน้าที่ไปทำการบ้านมาปรากฏว่าไม่ได้ เพราะมีระเบียบกระทรวงการคลังล็อกไว้ว่าบุคคลเช่น รัฐมนตรี ผบ.เหล่าทัพ ประธานวุฒิสภา ประธานรัฐสภา จะได้รับการดูแลให้เดินทางโดยสายการบินประจำชาติ เป็นการเบิกแบบสูงสุด (maximum)ตั้งเรื่องไว้ก่อน เพราะเจ้าหน้าที่ไม่รู้ว่าถ้าใช้จริงจะเป็นเท่าไรแน่ จึงให้นโยบายไปเลยว่าใช้ให้ถูกที่สุด เพราะสัมภาระไม่เยอะ
ส่วนการนอนโรงแรมก็อย่าให้ถึงงบสูงสุดคือ 12,000 บาท เอาแค่ 7,000-8,000 ก็พอ เจ้าหน้าที่ไปทำการบ้านมา ได้โรงแรมที่เหมาะสมแล้ว อย่างไรก็ตาม เอกสารการเบิกเป็นการเบิกแบบเต็มที่ ตามสิทธิ์ที่บรรจุในระเบียบกระทรวงการคลัง ดังนั้น ทั้งหมดมีเงื่อนไขอยู่ ต้องมีการพูดคุยให้ถูกต้องตามระเบียบ ส่วนเรื่องสายการบิน เชื่อว่าเจ้าหน้าที่การคลังของสภาได้ทำการบ้านดีที่สุดแล้ว สรุปเป็นชั้นธุรกิจของการบินไทย
เมื่อถูกถามว่า ประชาชนอาจตั้งคำถามว่า เหตุใดต้องเป็นชั้นธุรกิจ ปดิพัทธ์กล่าวว่า เป็นเรื่องที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ได้ ขอยกตัวอย่าง ตนเคยเสนอให้การเดินทางของ สส. สามารถจองตั๋วเองแล้วมาเบิกได้ แต่สภามีเงื่อนไขกับเอเจนซี่ในการจองตั๋ว ซึ่งเรื่องนี้มี 2 มุม มุมหนึ่งถ้า สส. ต้องจัดการชีวิตตัวเองหมด ก็อาจเดินทางไม่ทัน แต่พอใช้เอเจนซี่ เขาก็ให้เราได้ที่นั่งที่ดีสุด เป็น Priority Seat เช่นเดียวกับข้าราชการอื่นๆ ตนจะบอกว่าไม่รับอาหารบนเครื่องบินก็ไม่ได้ เพราะเบิกมาแล้ว ต้องใช้วิธีเซ็นว่าไม่รับอาหารแล้วค่อยคืนไป อย่างไรก็ดี ในตั๋วเครื่องบิน เป็นแพ็กเกจรวมทั้งหมด
ส่วนกรณีสส.พรรคก้าวไกลร่วมทริปจำนวนมาก เนื่องจากคณะนี้ไม่ได้เป็นกรรมาธิการที่มีสัดส่วนสมาชิกจากแต่ละพรรคชัดเจน ตอนที่ตนตั้งกรรมการ 4 ชุดเพื่อขับเคลื่อนงานสภาโปร่งใส ตนประกาศในสภาฯ เลยว่าพรรคไหนสนใจมาร่วมกัน ให้ส่งรายชื่อมา ปรากฏว่าก็ไม่มีส่งมา
ตอนแรกคณะเดินทางมี 12 คน แบ่งเป็น เจ้าหน้าที่ 4 คน ตนจึงขอให้มี สส. รัฐบาล 4 คนไปด้วย แต่เป็นการติดต่ออย่างไม่เป็นทางการ เพราะยังไม่มีวิป จึงเดินไปบอกพรรคเพื่อไทยและพรรคภูมิใจไทย ว่าขอพรรคละ 2 คน ให้เป็นคนที่สนใจกิจการสภา สนใจพัฒนาสภาให้ smart ทางพรรคเพื่อไทยจึงส่งรายชื่อมา 2 คน คือ ศรัณย์ ทิมสุวรรณ และ พชร จันทรรวงทอง ส่วนภูมิใจไทยส่งชื่อไม่ทัน แต่ต่อมาศรัณย์ติดภารกิจเรื่องวิปรัฐบาล จึงตัดสินใจอยู่ว่าจะเดินทางไปด้วยกันแต่กลับก่อน หรือยกเลิกทริปไปเลย
ส่วน สส. พรรคก้าวไกลที่ร่วมเดินทางไปนั้น ล้วนมีภารกิจทั้งสิ้น เช่น ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ เป็นคนที่เกี่ยวข้องกับ Smart Parliament โดยตรง เก่งที่สุดในเรื่องเทคโนโลยี ส่วนเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร เป็นประธานของอนุกรรมการเกี่ยวกับ Young Parliament ดังนั้น ยืนยันว่าทั้งหมดมีที่มาที่ไปและเหตุผล
เมื่อถามต่อว่า รู้สึกอย่างไรที่เหมือนโดนจับผิด นายปดิพัทธ์ กล่าวว่า เป็นความตั้งใจของเราอยู่แล้วที่จะทำสภาโปร่งใส ถ้าเราตั้งใจจะโปร่งใส ก็ต้องพร้อมโดนตรวจสอบ ไม่ใช่ส่งเอกสารแบบถมดำ นอกจากนี้คิดว่าคำวิพากษ์วิจารณ์นี้ควรไปไกลกว่าตน ต้องไปดูว่าระเบียบกระทรวงการคลังที่ใช้อยู่ปัจจุบันโบราณหรือไม่ เพราะอยู่มาหลายสิบปี และมีการปรับปรุงเมื่อปี 2560 ดังนั้นถ้ารัฐบาลนี้มีนโยบายรัดเข็มขัด การดูงานไม่ใช่แค่ฝ่ายนิติบัญญัติ แต่รวมถึงองค์กรอิสระ รวมถึงข้าราชการ ก็ต้องรัดเข็มขัดด้วย และปรับปรุงระเบียบกระทรวงการคลังไปด้วยกัน ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น ตนจะมีความยินดีอย่างยิ่ง
เมื่อถามว่ายืนยันพร้อมให้ตรวจสอบใช่หรือไม่ ปดิพัทธ์กล่าวว่า ตรวจสอบได้เลย พร้อมแสดงใบเสร็จ เรื่องค่าใช้จ่าย เมื่อตนเดินทางกลับมาจะมีการสรุปอย่างชัดเจนว่าใช้กับเรื่องอะไร เท่าไรบ้าง หากใครต้องการตรวจสอบ เรายินดีเปิดเผย