ป่อเต็กตึ๊ง เปิดข้อมูลหลัง 4 ทุ่ม อุบัติเหตุ 80-90% เมาหัวราน้ำ

ป่อเต็กตึ๊ง เปิดข้อมูลหลัง 4 ทุ่ม อุบัติเหตุ 80-90% เมาหัวราน้ำ

View icon 46
วันที่ 19 ก.ย. 2566
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
“ป่อเต็กตึ๊ง” เปิดข้อมูลหลัง 4 ทุ่ม อุบัติเหตุ 80-90% เมาหัวราน้ำ หมอประชาผ่าตัดสมอง” ตีแผ่อันตรายจากสุราทำสมองฝ่อ ป่วยสโตรก เกล็ดเลือดต่ำ เสี่ยงตาย พิการสูง ด้านแกนนำชุมชนคนเคยดื่มหนัก เผยร่างพังแทบเอาตัวไม่รอด ต้องอยู่กับโรคไปตลอดชีวิต    

วันนี้ (19 ก.ย.66) ที่โรงแรมแมนดาริน สามย่าน กรุงเทพฯ เครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต มูลนิธิเด็กเยาวชนและครอบครัว เครือข่ายเหยื่อเมาแล้วขับ และเครือข่ายชุมชนลดปัจจัยเสี่ยง สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดกิจกรรมเสวนา หัวข้อ “เครื่องดื่มแอลกอฮอล์กับสมอง ความจริงของนักดื่ม”

นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์  ผอ.สำนักสนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพ สสส. กล่าวว่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์จัดเป็นสารเสพติดให้โทษชนิดหนึ่งที่มีผลกระทบทางสุขภาพและทางสังคมอย่างกว้างขวาง ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก พบว่า ทุกปีทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตจากพิษของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ประมาณ 3 ล้านคน เป็นสาเหตุของโรคมากกว่า 230 ชนิด จากการวิจัยต้นทุนผลกระทบทางสังคมจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในไทยปี 64 ได้ประมาณการความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 165,450.5 ล้านบาท หรือ 1.02% ของ GDP และคิดเป็น 2,500 บาทต่อหัวประชากร และต้นทุนทางอ้อมจากการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร 159,358.8 ล้านบาท

นพ.ประชา กัญญาประสิทธิ์ ศัลยแพทย์ระบบประสาทและหลอดเลือดสมอง โรงพยาบาลเชียงใหม่ราม กล่าวว่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผลกระทบต่อสมองทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยผลทางตรง ทำให้สมองมีอายุสั้นลง สมองฝ่อก่อนวัยอันควร เป็นอัลไซเมอร์เร็วกว่าที่ควรจะเป็น เช่น บางคนอาจจะเริ่มเลอะเลือนตอนอายุ 90 ปี แต่แค่ 50 ปี ก็เริ่มจำใครไม่ได้แล้ว ส่วนผลกระทบโดยอ้อม จะส่งผ่านระบบอื่นๆ ของร่างกาย เช่น

1.ระบบหลอดเลือด หลอดเลือดหัวใจ ระบบการเผาผลาญของตับ แอลกอฮอล์จะทำให้หลอดเลือดอักเสบ เสื่อมสภาพ เกิดการอุดตัน หรือเปราะแตก สามารถเกิดสโตรกได้มากกว่าคนที่ไม่ดื่ม
2.ทำให้หน้าที่ในการผลิตสารที่ทำให้เลือดแข็งตัวของตับทำงานได้น้อยลง ทำให้เกล็ดเลือดน้อยลง
3.ทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูงขณะดื่ม เส้นเลือดรับแรงดันไม่ได้ก็แตก เส้นเลือดในสมองแตก
4.เกิดอุบัติเหตุ จะทำให้เลือดออกมาก หยุดไหลช้า หรือเลือดไหลไม่หยุด ผ่าตัดยาก เพราะห้ามเลือดยาก เพิ่มความเสี่ยงในการพิการและเสียชีวิตมากกว่าคนที่ไม่ได้ดื่ม ดังนั้น สิ่งสำคัญคือดื่มต้องไม่ขับ

นายจิรัฐติกร บรรจงกิจ ผู้ควบคุมหน่วยกู้ชีพป่อเต็กตึ้ง กล่าวว่า จากประสบการณ์ให้การช่วยเหลือการบาดเจ็บ พบว่าช่วงหลัง 4 ทุ่ม 80% ของจำนวนอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นมีสาเหตุจากความเมา และวันหยุดเสาร์ อาทิตย์ หรือหยุดเทศกาล จะเพิ่มเป็นกว่า 90% ซึ่งการช่วยเหลือทำได้ยากลำบาก เพราะคนเมาครองสติไม่ได้ สับสน ให้ข้อมูลวกวน บางครั้งทำร้ายเจ้าหน้าที่ ทำลายของบนรถพยาบาล จึงขอเสนอให้มีการตั้งด่านตรวจมากขึ้น ผับ บาร์ต้องร่วมรณรงค์ให้คนที่ดื่มไม่ขับรถ ใช้บริการรถสาธารณะ หรือบริการคนขับรถแทน

นายรังสรรค์  ชื่นประเสริฐ ประธานชุมชนวัดอัมพวา เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ อายุ 58 ปี กล่าวว่า เริ่มกินเหล้า สูบบุหรี่ตั้งแต่อายุ 17 ปี จนอายุ 27 ปี ทำงานเป็นเอนจิเนีย คุมช่าง หลังเลิกงานก็กินดื่มตามร้านต่างๆ ทำพฤติกรรมแบบนี้ติดต่อกันหลายปีจนเริ่มสังเกตว่า สุขภาพเริ่มแย่ลง ดื่มน้อยแต่มึนเหมือนคนเมามาก จึงเริ่มหยุดดื่มหันมาดูแลสุขภาพ แต่ก็ไม่ได้กินยาตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด จนมีปัญหาสุขภาพเพิ่มขึ้น เดินไม่ตรง นั่งแล้วหาย มีอาการบ้านหมุน จึงไปพบแพทย์ แต่ระหว่างที่รอพบแพทย์อาการกลับกำเริบ แสบตา ลิ้นแข็งพูดไม่ชัด แขนขาซีกหนึ่งเป็นอัมพาต อีกข้างอ่อนแรง ซึ่งเป็นอาการของโรคเรื้อรังที่เป็นผลพวงมาจากการดื่มเหล้า สูบบุหรี่มานานแม้จะเลิกแล้วก็ตาม