อุทยานฯ จัดงบ 12 ล้าน จัดชุดเฝ้าระวังช้างป่า 8 แห่งทั่วประเทศ หลังช้างป่าออกแนวเขตอนุรักษ์มากขึ้น ทำชาวบ้านเดือดร้อน
เฝ้าระวังช้างป่า 8 แห่ง วันนี้ (20 กันยายน 2566) นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้ นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ ดำเนินการจัดประชุมคณะกรรมการพิจารณาการใช้จ่ายเงินอุทยานแห่งชาติ เพื่อพิจารณาและให้การสนับสนุนจัดตั้งชุดเฝ้าระวังและผลักดันช้างป่า
โดยวันนี้ เมื่อเวลา 09.30 น. นายชัยวัฒน์ แจ้งว่า คณะกรรมการเงินอุทยานแห่งชาติ ได้อนุมัติใช้เงินอุทยานแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เพื่อสนับสนุนเพิ่มการจ้างชุดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังช้างป่าออกนอกพื้นที่อนุรักษ์ ประจำในจุดเสี่ยงที่ช้างป่าออกนอกพื้นที่อนุรักษ์ ที่กำลังเกิดผลกระทบกับชาวบ้านรอบพื้นที่อนุรักษ์อย่างรุนแรง ในอุทยานแห่งชาติ จำนวน 8 แห่ง ได้แก่
อุทยานแห่งชาติเขาชะเมา-เขาวง จ.ระยอง
อุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏ จ.จันทบุรี
อุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้น จ.จันทบุรี
อุทยานแห่งชาติน้ำตกคลองแก้ว จ.ตราด
อุทยานแห่งชาติบางลาง จ.ยะลา
อุทยานแห่งชาติภูกระดึง จ.เลย
อุทยานแห่งชาติภูเรือ จ.เลย
อุทยานแห่งชาติภูผาม่าน จ.ขอนแก่น
โดยพื้นที่ทั้ง 8 แห่ง ได้ประสบปัญหาช้างป่าออกนอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์จำนวนมาก ก่อให้เกิดปัญหาการสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินแก่ราษฎรโดยรอบ ซึ่งกรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้สนับสนุนเงินรายได้อุทยานแห่งชาติ เพื่อจัดตั้งชุดเคลื่อนที่เร็วเฝ้าระวัง ผลักดันช้างป่าและแก้ไขปัญหาช้างป่าออกนอกพื้นที่อนุรักษ์ และเครือข่ายเฝ้าระวังช้างป่าและสัตว์ป่าออกนอกพื้นที่อนุรักษ์ ทั้งหมด 16 ชุด ชุดละ 5 นาย รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 12,016,000 บาท ทั้งนี้การปฏิบัติงานต้องเป็นไปตามแผนการจัดการช้างป่า ให้เกิดอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลร่วมกัน
สำหรับเจ้าหน้าที่ชุดเคลื่อนที่เร็วเฝ้าระวัง ผลักดันช้างป่าและแก้ไขปัญหาช้างป่าออกนอกพื้นที่อนุรักษ์ และเครือข่ายเฝ้าระวังช้างป่าและสัตว์ป่าออกนอกพื้นที่อนุรักษ์ ถือเป็นด่านแรกในการทำหน้าที่ ติดตาม เฝ้าระวัง ผลักดันช้างป่าที่ออกนอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์และต้อนกลับคืนสู่ป่าอนุรักษ์ดังเดิม แจ้งเตือนเหตุแก่ประชาชนในพื้นที่ที่ช้างป่าจะเคลื่อนผ่าน รวมถึงราษฎรที่ได้รับผลกระทบ เพื่อป้องกันอันตราย ลดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน และปฏิบัติการกู้ภัยให้ความช่วยเหลือแก่ราษฎรที่ประสบเหตุช้างป่าทั้งในและนอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์ เพื่อบรรเทาความเดือนร้อนให้กับประชาชนที่อาศัยอยู่แนวเขตป่าที่ได้รับผลกระทบจากช้างป่า สัตว์ป่าออกมารวบกวน เกิดความเสียหายในชีวิตทรัพย์สิน และเป็นการลดช่องว่างระหว่างกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กับประชาชนให้หันหน้าเข้ามาช่วยกันทำงานให้มีความใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น