ชี้พ่อฆ่าโบกปูน เข้าข่ายมีความสุขเมื่อเห็นคนอื่นเจ็บปวด

View icon 89
วันที่ 20 ก.ย. 2566 | 16.34 น.
ข่าวเย็นประเด็นร้อน
แชร์
ข่าวเย็นประเด็นร้อน - การที่พ่อสามารถฆ่าลูกของตัวเองได้หลายคน ในมุมของนักอาชญาวิทยา มองว่า ต้องย้อนกลับไปดูการเลี้ยงดูและสภาพแวดล้อมตั้งแต่เด็ก ส่วนการทำร้ายเมีย เหมือนจะเข้าข่ายพวกที่เห็นคนอื่นเป็นทุกข์แล้วมีความสุข และที่พ่ออ้างว่าตัวเองมีอาการทางจิตนั้น เท่าที่พบ ก็ไม่เคยมีผู้ป่วยทางจิต ที่บอกว่าตัวเองป่วยทางจิต เป็นการบอกเพื่อหนีความผิดมากกว่า
 
ในมุมมองของนักอาชญาวิทยา ต่อการที่นายส่องศักดิ์ ผู้เป็นพ่อ ฆ่าลูกของตัวเองนำไปฝังโบกปูนที่กำแพงเพชร และมีลูกอีก 4 คนที่เสียชีวิต ซึ่งอาจถูกฆ่าเหมือนกันนั้น รองศาสตราจารย์ พันตำรวจโท ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล ผู้ช่วยอธิการบดีและประธานกรรมการคณะอาชญาวิทยาและบริหารงานยุติธรรม มหาวิทยาลัยรังสิต มองว่า สภาพภายในจิตใจคนโดยปกตินั้น จะไม่ฆ่าลูกตัวเอง จึงต้องย้อนกลับไปดูการอบรมเลี้ยงดูนายส่องศักดิ์ตั้งแต่ยังเป็นเด็ก และสภาพแวดล้อมที่อาศัยอยู่ เพราะกรณีนี้ เป็นปัญหาภายในจิตใจของนายส่องศักดิ์ และอาจมีบางเรื่องในวัยเด็กที่เคยถูกกระทำรุนแรงมาด้วย จึงสะท้อนออกมาเป็นในตอนที่เป็นผู้ใหญ่ ซึ่งก็ยังต้องดูปัจจัยอื่นประกอบด้วย เช่นมีการใช้สารเสพติด หรือสิ่งมึนเมาประกอบด้วยหรือไม่

ส่วนสภาวะทางเศรษฐกิจที่มีรายงานว่านายส่องศักดิ์ และภรรยาตกงาน เป็นแค่หนึ่งปัจจัยที่ก่อความเครียด แต่ไม่ได้เป็นปัจจัยที่นำไปสู่การฆ่าลูกได้ การฆ่าลูกตัวเองในต่างประเทศ ก็มักเจอการกระทำต่อลูกเลี้ยง มักไม่ใช่ลูกตัวเอง กรณีนี้จึงอาจเป็นความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเริ่มจากคำพูดที่รุนแรงก่อน แล้วพัฒนาสู่พฤติกรรมที่รุนแรง ส่วนจะเป็นฆาตรกรต่อเนื่องหรือไม่ ปกติฆาตกรต่อเนื่อง จะกระทำต่อคนอื่น ไม่ใช่สมาชิกในครอบครัว เหมือนกรณีของสมคิด พุ่มพวง ที่กระทำต่อคนอื่น

อาจารย์กฤษณพงค์ ยังวิเคราะห์ถึงกรณีมีรายงานว่านายส่องศักดิ์ เคยจับภรรยามัดแล้วใช้ไม้แขวนตีว่า เป็นลักษณะของสภาพจิต ที่รู้สึกพึงพอใจ เมื่อเห็นคนอื่นได้รับความทุกข์ ถูกกระทำด้วยความรุนแรง ซึ่งต้องย้อนกลับไปดูในวัยเด็กของผู้ต้องหาว่า เคยถูกกระทำลักษณะนี้ไหมในวัยเด็ก เพราะธรรมชาติของมนุษย์ ไม่มีใครมีความสุขที่เห็นมนุษย์ด้วยกันถูกทำร้าย แต่นี่ดูเหมือนว่าผู้ต้องหาคนนี้เห็นคนอื่นมีความทุกข์แล้วตัวเองมีความสุข พึงพอใจ

ส่วนกรณีที่ผู้ต้องหาอ้างว่า ตัวเองมีอาการทางจิตนั้น อาจารย์กฤษณพงค์ บอกว่า โดยปกติคนที่มีความผิดปกติทางจิต มักจะไม่บอกว่าตัวเองมีความผิดปกติทางจิต และผู้ที่กระทำความผิด หรือผู้ต้องหาก็น่าจะข้อกฎหมาย ว่าถ้ากระทำความผิดในขณะที่จิตไม่สมประกอบ ไม่รู้ผิดชอบชั่วดี ก็ถือเป็นการกระทำความผิดที่ไม่ต้องรับโทษตามกฎหมาย แต่ว่าการจะบอกว่าจิตผิดปกติหรือไม่ ไม่ใช่ตัวผู้ต้องหาบอก ไม่ใช่ตำรวจ ไม่ใช่อัยการหรือศาลที่จะบอกได้ แต่ต้องเป็นจิตแพทย์ที่จะเป็นผู้ตรวจประเมิน แต่จากประสบการณ์ที่ทำคดีฆาตกรรมมาพอสมควรก็ไม่ค่อยเห็น ที่ผู้ก่อเหตุจะบอกว่าตัวเองมีความผิดปกติทางจิต

ข่าวที่เกี่ยวข้อง