“ภูมิธรรม” อยากฟังความเห็นประชามติ “วิษณุ” พร้อมเปิดช่อง “ก้าวไกล” ร่วมงาน

“ภูมิธรรม” อยากฟังความเห็นประชามติ “วิษณุ” พร้อมเปิดช่อง “ก้าวไกล” ร่วมงาน

View icon 207
วันที่ 22 ก.ย. 2566 | 14.51 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
“ภูมิธรรม” อยากฟังความเห็นประชามติ “วิษณุ” พร้อมเปิดช่อง “ก้าวไกล” ร่วมงาน เดินหน้าสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยอมรับ งบประชามติครบคอร์ส ทะลุหมื่นล้านบาท เร่งหารือแนวทางประหยัดงบประมาณ

วันนี้ (22ก.ย.66) นายภูมิธรรม เวชชัยชัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ กล่าวถึงความคืบหน้าการเสนอแต่งตั้ง “คณะกรรมการศึกษาการทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ” ว่า คงต้องใช้เวลา 1-2 สัปดาห์ ที่จะพูดคุยทุกอย่างให้เรียบร้อย ขณะนี้ เริ่มทาบทามบุคคลจากภาคส่วนต่างๆ เช่น นายเอกชัย ไชยนุวัฒน์ รองคนบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม , น.ส.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ , นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา อดีตประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย  ขณะที่นายนิกร จำนง ประธานคณะกรรมการนโยบายพรรคชาติไทยพัฒนา ได้ตอบรับเข้าร่วม ทั้งนี้จะเร่งติดต่อบุคคลให้เร็วที่สุด เมื่อนายกรัฐมนตรีเดินทางกลับ จะเสนอรายชื่อเพื่อพิจารณา หากไม่ทันเสนอในวันที่ 26 ก.ย.นี้ จะเสนอสัปดาห์ถัดไปทันที  เมื่อได้รายชื่อเรียบร้อย ในการประชุมนัดแรก จะกำหนดไทม์ไลน์การทำงานของคณะกรรมการชุดนี้ รวมถึงวัตถุประสงค์ ขอบเขต เป้าหมาย ขั้นตอนการร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ

" ผมหวังว่า เหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น สมมุติว่ารัฐบาลครบ 4 ปี  ซึ่งผมอยากเห็นการเลือกตั้งครั้งหน้า มีกฎหมายรัฐธรรมนูญใหม่ และมีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญใหม่ให้สำเร็จ  เพื่อใช้ในการเลือกตั้ง" นายภูมิธรรม กล่าว

เมื่อถามว่าจะมีการทาบทามนายวิษณุ เครืองาม อดีตรองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมายมาร่วมด้วยหรือไม่ นายภูมิธรรม กล่าวว่า ถ้ามีโอกาสก็อยากจะคุย เพราะท่านเป็นผู้รู้ เป็นคนที่เชี่ยวชาญในกฎหมาย เช่นเดียวกับตัวแทนพรรคการเมือง ซึ่งรวมถึงพรรคก้าวไกลด้วย จะพยายามจะเชิญมาร่วมให้มากที่สุด แต่เรามีข้อจำกัดเรื่องปริมาณจำนวนคน เมื่อลิสต์รายชื่อเกิน 30 คน ใหญ่มากเกินไปก็ทำงานลำบาก แต่ถ้าไม่ได้เป็นคณะกรรมการ ก็สามารถเข้ามามีส่วนร่วม พบปะพูดคุยแสดงความคิดเห็น

เมื่อถามถึงงบประมาณในการจัดทำรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ และประชามติ นายภูมิธรรม กล่าวว่า การทำประชามติ ตีความตามศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ต้องทำประมาณ 3-4 ครั้ง ใช้งบประมาณครั้งละ ประมาณ 3-4 พันล้านบาท ส่วนตัวคิดว่า จะทำประชามติน้อยครั้งที่สุด อันไหนสามารถควบรวมได้ก็จะทำ โดยยึดแนวทางของศาลรัฐธรรมนูญที่วินิจฉัยไว้ และ หากสามารถประหยัดงบประมาณได้มากที่สุด ก็เป็นเรื่องที่ดี เพราะหากทำครบ 3-4 ครั้ง ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย จะใช้งบประมาณสูงถึงหมื่นล้านบาท