ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวว่า สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในโรงเรียนสังกัด สพฐ. ทั่วประเทศ มีโรงเรียน 29,466 แห่ง ดูแลนักเรียน 6,607,564 คน มีจำนวนครูในภาพรวม 467,115 คน คิดเป็นอัตราเฉลี่ยครูต่อห้องเรียนอยู่ที่ 1.38 คนต่อห้อง ในจำนวนดังกล่าวมีกลุ่มโรงเรียนที่เรียกว่า Protected Schools ซึ่งไม่สามารถควบรวมได้ เนื่องจากตั้งอยู่ในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดารเช่นบนเขาหรือในเกาะแก่ง จำนวน 1,155 แห่ง มีนักเรียน 90,348 คน มีจำนวนครู 9,484 คน คิดเป็นอัตราเฉลี่ยครูต่อห้องเรียนอยู่ที่ 0.95 คนต่อห้อง ทำให้เกิดปัญหาครูไม่ครบชั้นหรือไม่ครบรายวิชา

เพื่อแก้โจทย์ปัญหาข้างต้น กสศ. ได้ร่วมกับ 5 หน่วยงาน ประกอบด้วยกระทรวงศึกษาธิการ, กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม, สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา และสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา ขับเคลื่อนโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น ตั้งแต่ปี 2562 ซึ่งปีการศึกษา 2567 จะเป็นปีแรกที่มีบัณฑิตครูรัก(ษ์)ถิ่น กลับไปเป็นครูในชุมชนของตนเอง ซึ่งโรงเรียนเหล่านั้นถือว่าเป็นความหวังเดียวของคนนับร้อยนับพันชีวิตในพื้นที่ ขณะที่ในทางกลับกัน โรงเรียนขนาดกลางและขนาดเล็กที่ห่างไกลเหล่านี้ต้องประสบกับปัญหาครูโยกย้ายบ่อย เนื่องจากครูที่ได้รับการบรรจุไม่ใช่คนในพื้นที่ ดังนั้นเมื่ออยู่ครบเกณฑ์ 2 ปี จึงมักทำเรื่องขอย้ายกลับไปยังภูมิลำเนาของตน โดยโรงเรียนเหล่านี้เอง ที่ กสศ. และหน่วยงานต้นสังกัดการศึกษา คัดเลือกให้เป็นโรงเรียนปลายทางของนักศึกษาครูรัก(ษ์)ถิ่น เพราะปัญหาขาดแคลนครูเป็นเรื่องเร่งด่วน และจะปล่อยให้ดำเนินต่อไปอีกไม่ได้
ด้าน รศ.ดร.ดารณี อุทัยรัตนกิจ กรรมการบริหาร กสศ. และประธานอนุกรรมการพัฒนาระบบการผลิตและพัฒนาครูสำหรับโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล กล่าวว่า โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นมี แนวคิดสร้างครูของชุมชน เพื่อสร้างโอกาสให้กับโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล ผ่านการสร้างครูรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพสูงให้กลับไปพัฒนาชุมชนของตนเอง ตลอด 4 ปีที่ผ่านมาของการดำเนินงาน มีหลักฐานยืนยันว่าการผลิตและพัฒนาครูในระบบปิด สามารถตอบโจทย์การแก้ปัญหาในระดับพื้นที่ได้ด้วยหลักสูตรการเรียนการสอนเฉพาะ ครูรัก(ษ์)ถิ่นเป็นโครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการขนาดใหญ่ มีการติดตามต่อเนื่องหลังบรรจุเป็นเวลาอย่างน้อยรุ่นละ 6 ปี ดังนั้นผลการศึกษาวิจัยที่จะได้จากสถาบันผลิตและพัฒนาครู จะเป็นคานงัดสำคัญที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงในระบบผลิตและพัฒนาครูเพื่อตอบโจทย์การแก้ปัญหาด้านการศึกษาของประเทศ แม้ว่าการลงทุนในโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นจะใช้ต้นทุนสูง แต่ถ้ามองถึงปลายทางว่าประเทศผลิตครูหนึ่งคนที่มีคุณภาพ และมีคุณสมบัติเฉพาะที่จะกลับไปพัฒนาชุมชนห่างไกล 1,500 แห่งทั่วประเทศ นับว่าคุ้มค่า เพราะจะมีนักเรียนและคนในชุมชนอีกเรือนแสนที่จะได้รับประโยชน์จากครูรุ่นใหม่ในโครงการนี้
ขณะที่ ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ที่ปรึกษาโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น กล่าวว่า บุคคลสำคัญที่จะเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงการศึกษา คือ ครู โดยเริ่มทำได้จากภายในห้องเรียน เพราะเราเห็นแล้วว่าวิธีการกำหนดกรอบเกณฑ์เดิมที่ทำจากบนลงล่าง หรือ Top-Down นั้น แม้จะมีแนวคิดหลักการหรือเจตนาที่ดีอย่างไร แต่ผลที่พิสูจน์แล้วได้แสดงให้เห็นว่าไม่เวิร์ก ฉะนั้นถ้าจะให้เวิร์ก การเปลี่ยนแปลงต้องมาจากกลุ่มครูและโรงเรียน ด้วยการทำงานที่มีเป้าหมายตั้งต้นที่ผลลัพธ์การเรียนรู้ของศิษย์ ภายใต้คำถามว่าอยากจะให้ลูกศิษย์ได้อะไรติดตัวไปเมื่อจบการศึกษา หมายถึงกลุ่มครูต้องรวมกลุ่มกันเรียนรู้จากการปฏิบัติ แล้วนำมาแลกเปลี่ยนกันผ่านกระบวนการ PLC: Professional Learning Community หรือชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ เพื่อการออกแบบชั้นเรียนแล้วนำไปใช้ จากนั้นเก็บข้อมูลและตีความเพื่อปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา แล้วการเรียนรู้จากประสบการณ์จะช่วยยกระดับการเรียนรู้ของศิษย์ให้เป็นไปตามเป้าหมายได้

สำหรับหลักสูตรการผลิตครูรัก(ษ์)ถิ่นรุ่นที่ 5 จะครอบคลุมสาขาวิชาปฐมวัย ประถมศึกษา และวิชาเอกคู่ (ปฐมวัย-ประถมศึกษา) 329 อัตรา ตอบโจทย์พื้นที่เป้าหมายโรงเรียนปลายทางใน 40 จังหวัด โดยแบ่งการทำงานเป็นสามระยะคือต้นน้ำ หรือ 6 เดือนแรกกับการลงพื้นที่ค้นหา คัดกรอง คัดเลือก นักเรียนที่จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ในรัศมีโรงเรียนปลายทางที่ระบุไว้ กลางน้ำคือนำนักศึกษาทุนเข้ารับการจัดการเรียนรู้ตามหลักสูตรและมีกิจกรรมเสริมหลักสูตรในระยะเวลา 4 ปี ส่วนปลายน้ำคือช่วงการสนับสนุนติดตาม และประเมินการปฏิบัติงานของครูรัก(ษ์)ถิ่นในโรงเรียนปลายทางอีก 6 ปี โดยหัวใจของการทำงานคือการดูแลนักศึกษาทุนที่แตกต่างหลากหลายด้วยต้นทุนและภูมิหลังของชีวิต สถาบันผลิตและพัฒนาครูจึงต้องมีการออกแบบการทำงานใหม่ร่วมกัน ระหว่างผู้บริหารและคณาจารย์ในสถาบัน
ทั้งนี้ ในปี 2567 หรือปีการศึกษาหน้า จะเป็นปีแรกที่นักศึกษาครูรัก(ษ์)ถิ่นรุ่นที่ 1 จบการศึกษาและได้รับการบรรจุเข้าปฏิบัติการในโรงเรียนปลายทาง ถือเป็นการเริ่มต้นของการทำงานในระยะสนับสนุนติดตาม และจากนั้นจะเป็นการถอดบทเรียนและขยายผล ขณะเดียวกัน กสศ. จะดำเนินการขับเคลื่อนเชิงนโยบายเพื่อให้โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นสามารถเป็นต้นแบบของการผลิตและพัฒนาครูในโครงการอื่น ๆ และครอบคลุมไปถึงการผลิตและพัฒนาครูในสังกัดการศึกษาอื่น ๆ นอกเหนือจากโรงเรียนปลายทางในสังกัด สพฐ. ต่อไป
