หมอเด็กวิเคราะห์เหตุกราดยิง ที่สยามพารากอน ผู้ใหญ่ก็มีส่วนผิด

View icon 1.2K
วันที่ 4 ต.ค. 2566 | 06.07 น.
เช้านี้ที่หมอชิต
แชร์
เช้านี้ที่หมอชิต - กรณีเหตุกราดยิงที่เกิดขึ้น ในมุมมองของนักจิตวิทยาวัยรุ่น มองว่า เรื่องนี้มีหลายปัจจัยที่เป็นสาเหตุให้เด็กคนหนึ่งก่อเหตุความรุนแรง แต่ประเด็นสำคัญคือการที่เด็กคนหนึ่งสามารถเข้าถึงอาวุธปืนได้ง่ายขนาดนี้ บ่งชี้ได้ว่าผู้ใหญ่ไม่มีเกราะป้องกันใด ๆ ให้กับเด็กเลย

รองศาสตรจารย์ นายแพทย์ สุริยเดว ทรีปาตี หรือ "หมอเดว" ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาวัยรุ่น กล่าวถึงกรณีเด็กอายุ 14 ปี ก่อเหตุกราดยิงที่สยาม พารากอน ว่า ในส่วนของตัวเด็กเอง หากจะบอกว่าก่อเหตุเพราะ ความคลุ้มคลั่ง จากประสบการณ์ที่เคยเจอพบว่าอาการคลุ้มคลั่งของเด็กวัยนี้ มักมาจากการเล่นเกม แต่ในระดับนี้ ไม่เรียกว่าติดเกมธรรมดา แต่เป็นระดับอาการของ "โรคเสพติดเกม"

อย่างไรก็ตาม หมอเดว บอกว่า กรณีนี้ต้องตั้งคำถามถึงการครอบครองและพกพาอาวุธปืนของผู้ก่อเหตุ ว่าทำได้อย่างไร เด็กเอาปืนมาจากไหน และพกปืนเข้าไปในห้างได้อย่างไร และห้างชื่อดังขนาดนี้ แต่ทำไมถึงยังมีคนพกปืนเข้าไปได้ ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นถึงความหละหลวมในทุก ๆ ส่วน ต้องทบทวนกันใหม่ว่าจากนี้จะมีมาตรการรับมือย่างไร ขณะเดียวกันจากการวิจัยพบว่าอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เด็กก่อความรุนแรง คือผู้ใหญ่ ซึ่งควรจะเป็นต้นแบบที่ดีให้กับเด็ก แต่ปัจจุบันพบว่าผู้ใหญ่กลับมีระดับคุณธรรมที่ตกต่ำลงมากเช่นกัน

ส่วนในการดำเนินคดีกับเด็กชายวัย 14 ปี ผู้ก่อเหตุ แหล่งข่าวซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายเด็กและเยาวชน กล่าวว่า ผู้ก่อเหตุอายุเกิน 12 ปี แต่ไม่เกิน 15 ปี จึงเรียกว่า "เด็ก" ไม่เรียกว่า "เยาวชน" ซึ่งตามกฎหมายเด็กและเยาวชน มาตรา 142 ไม่ได้มีบทลงโทษกับเด็ก แต่สามารถส่งตัวไปควบคุมยังสถานที่ตามที่กฎหมายกำหนดได้ เช่น สถานพินิจฯ โดยสามารถควบคุมตัวไว้ได้จนถึงอายุ 24 ปี จากนั้นศาลอาจมีดุลยพินิจในการส่งตัวไปคุมขังในเรือนจำของผู้ใหญ่หรือไม่ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์และความหนักเบาของคดี โดยมองว่าผู้ก่อเหตุรายนี้ไม่เข้าข่ายเป็นคนวิกลจริต ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 65 สามารถเอาผิดได้ ขณะเดียวกันผู้ปกครองก็อาจมีความผิดฐานปล่อยปละละเลยด้วย