ข้าวนาปี ข้าวโพด มันสำปะหลัง ผลผลิตย่ำแย่ เจอพิษฝนทิ้งช่วง ราคาปุ๋ย น้ำมันแพง เกษตรกรสู้ไม่ไหว บางรายต้องลด เลิกเพาะปลูก คาดปีหน้าเผชิญเอลนีโญซ้ำอีก ห่วงผลของสงครามต้องติดตามใกล้ชิด
วันนี้ (24 ต.ค.66) นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงภาวะเศรษฐกิจการเกษตรในไตรมาส 3 ของปีนี้ ขยายตัวได้
ได้ 0.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยภาคปศุสัตว์ ประมง และป่าไม้ ขยายตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากความต้องการบริโภคมีเพิ่มขึ้น และการบริหารจัดการฟาร์มที่ดี
ในส่วนของ พืช ที่ได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศร้อน แห้งแล้ง ภาวะฝนทิ้งช่วงทำให้ปริมาณฝนน้อยกว่าปีที่ผ่านมา ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำและแหล่งน้ำตามธรรมชาติลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของพืชสำคัญหลายชนิด นอกจากนี้ ราคาปุ๋ยเคมี น้ำมันเชื้อเพลิง และวัตถุดิบอาหารสัตว์ ยังอยู่ในระดับสูง ทำให้เกษตรกรบางส่วนปรับเปลี่ยนชนิดพืชที่ทำการเพาะปลูก
พืช 3 ชนิดที่มีผลผลิตลดลง
1. ข้าวนาปี ผลผลิตลดลงในทุกภูมิภาค เนื่องจากภาวะฝนทิ้งช่วงและปริมาณฝนในปีนี้น้อยกว่าปีที่ผ่านมา
2. ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ผลผลิตลดลง เนื่องจากเกษตรกรบางส่วนลดเนื้อที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในช่วงไตรมาส 2 จากต้นทุนการผลิตที่สูงทั้งค่าปุ๋ย ยาปราบศัตรูพืช และเมล็ดพันธุ์
3. มันสำปะหลัง ผลผลิตลดลง เนื่องจากเนื้อที่เก็บเกี่ยวบางส่วนในภาคเหนือตอนบนและภาคตะวันออกเฉียงเหนือลดลง จากฝนที่ตกหนักและอุทกภัยตั้งแต่ช่วงเดือนกันยายน 2565 ทำให้เนื้อที่ปลูกมันสำปะหลังในขณะนั้นได้รับเสียหาย ประกอบกับช่วงเพาะปลูกประสบภาวะแล้ง ทำให้ต้นมันสำปะหลังเจริญเติบโตไม่เต็มที่
พืช 4 ชนิดผลผลิตเพิ่มขึ้น
1. ข้าวนาปรัง ผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากช่วงเพาะปลูกมีน้ำในอ่างเก็บน้ำและแหล่งน้ำตามธรรมชาติเพียงพอ ประกอบกับราคาข้าวอยู่ในเกณฑ์ดี ทำให้เกษตรกรขยายเนื้อที่เพาะปลูกในที่นาที่ปล่อยว่าง
2. ทุเรียน ผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากเกษตรกรภาคใต้ขยายเนื้อที่ปลูกเพิ่มขึ้นแทนยางพาราและผลไม้อื่น ๆ และต้นทุเรียนที่ปลูกในปี 2561 ให้ผลผลิตในปีนี้เป็นปีแรก
3. มังคุด ผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากแหล่งผลิตในภาคใต้มีสภาพอากาศเอื้ออำนวยต่อการออกดอกติดผลของมังคุด ประกอบกับต้นมังคุดมีการพักต้นสะสมอาหารและให้ผลน้อยในปีที่ผ่านมา ทำให้ปีนี้ให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น
4. เงาะ ผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาจูงใจให้เกษตรกรดูแลรักษาต้นเงาะดี ทำให้ผลผลิตเงาะในภาคใต้ออกสู่ตลาดต่อเนื่อง
สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจการเกษตรทั้งปี 2566 คาดว่าจะขยายตัวได้ 1.5 – 2.5% เมื่อเทียบกับปี 2565 โดยปัจจัยสนับสนุนที่ทำให้ภาคเกษตรในภาพรวมขยายตัวได้ คือ การดำเนินนโยบายและมาตรการของภาครัฐอย่างต่อเนื่อง ความร่วมมือในการบริหารจัดการสินค้าเกษตรให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด การส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีในการผลิต สนับสนุนการรวมกลุ่มทำการผลิต การแปรรูป และพัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตรให้ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค การเฝ้าระวัง เตือนภัย และบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ รวมทั้งการเพิ่มช่องทางให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร เพื่อการวางแผนและตัดสินใจได้อย่างทันท่วงที นอกจากนี้ การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการบริโภคในประเทศ ภาคบริการ และการท่องเที่ยว ส่งผลให้มีความต้องการสินค้าเกษตรและอาหารเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามเฝ้าระวัง ทั้งจากอิทธิพลของลมมรสุมที่ทำให้ฝนตกหนักถึงหนักมากในบางพื้นที่ ปรากฏการณ์เอลนีโญที่อาจรุนแรงขึ้นในช่วงปลายปี ความแปรปรวนของสภาพอากาศ การระบาดของโรคและแมลง อาจสร้างความเสียหายต่อผลผลิตทางการเกษตรบางส่วน รวมทั้งต้นทุนการผลิตที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ส่งผลต่อการลงทุนและกำลังซื้อของเกษตรกร ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน และการสู้รบในตะวันออกกลาง อาจส่งผลให้เศรษฐกิจโลกไม่สามารถฟื้นตัวได้ตามที่คาดการณ์ไว้