ส่งชายต้องสงสัย แทงคอครูสอนศาสนา ตรวจจิตเวช

View icon 48
วันที่ 5 พ.ย. 2566 | 04.25 น.
สนามข่าวเสาร์-อาทิตย์
แชร์
สนามข่าวเสาร์-อาทิตย์ - ยังคงมีกรณีของชายที่ต้องสงสัยว่ามีอาการป่วยทางจิตเวช ก่อเหตุให้เห็นกันอยู่เรื่อย ๆ ล่าสุดเป็นคดีที่ไปทำร้ายครูสอนศาสนาเสียชีวิต ขณะกำลังให้อาหารปลาอยู่ริมบ่อ ที่สำคัญชายคนนี้เป็นน้องชายแท้ ๆ และยังมีประวัติเคยทำร้ายพ่อแม่ และรปภ.หมู่บ้านใกล้เคียงมาแล้ว

ความคืบหน้าเหตุการณ์ที่ นายณรงค์ อายุ 51 ปี ครูสอนศาสนาอิสลาม ถูกคนร้ายใช้อาวุธมีดทำร้ายที่บริเวณคอจนเป็นเหตุให้เสียชีวิต ขณะไปให้อาหารปลาบริเวณริมบ่อปลาสวาย ใกล้หมู่บ้านแห่งหนึ่ง ถนนเลียบมอเตอร์เวย์-กรุงเทพชลบุรี แขวงและเขตประเวศ กรุงเทพมหานคร เมื่อกลางดึกวันที่ 3 ต่อเนื่องวันที่ 4 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา และได้เชิญตัวชายต้องสงสัยคนหนึ่งสอบสวน

พันตำรวจเอก สุรพงษ์ พุฒขาว ผู้กำกับการ สน.ประเวศ เปิดเผยว่า ช่วงเช้าของเมื่อวานได้ให้พนักงานสอบสวนพาตัวผู้ต้องสงสัย ไปส่งโรงพยาบาลเพื่อประเมินอาการป่วยทางจิตเวชแล้ว หลังพูดคุยซักถามปรากฎว่าพูดคุยกันไม่รู้เรื่อง ส่วนเหตุที่ชายคนนี้ตกเป็นผู้ต้องสงสัย ก็มาจากข้อมูลของชาวบ้านที่บอกว่า ชายคนนี้มีอาการป่วยทางจิตเวชมานาน ชอบเดินถืออาวุธกวัดแกว่งไปมาเป็นประจำ และเคยก่อเหตุทำร้ายพ่อกับแม่ และ รปภ.หมู่บ้านใกล้เคียงมาแล้ว อีกทั้งจากการตรวจค้นห้องพักยังพบเสื้อเปื้อนเลือด จึงให้ดำเนินการทั้ง 2 ส่วน ส่วนหนึ่งคือตรวจยืนยันว่ามีอาการป่วยทางจิตเวชจริงหรือไม่ อีกส่วนคือรอผลเปรียบเทียบ DNA วัตถุพยานมายืนยัน หากตรงกันก็เชื่อได้ว่าเป็นผู้ก่อเหตุไม่ผิดตัว จากนั้นจึงจะพิจารณาดำเนินคดีไปตามกฎหมาย

มีข้อมูลเกี่ยวกับอาการป่วยทางจิตเวชที่น่าสนใจ มาจากสำนักงานสารนิเทศ กระทรวงสาธารณสุข เกี่ยวกับการให้บริการรักษา หรือ ตรวจอาการทางจิตเวช ผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงต่อการใช้ความรุนแรง ตัวเลขอาจไม่ตรงกันเป๊ะ ๆ แต่ สถิติค่อนข้างน่าตกใจ พบว่าในปีงบประมาณ 2566 มีผู้ป่วยกลุ่มนี้เข้ารับบริการไม่ต่ำกว่า 20,000 คน ในจำนวนนี้แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม กลุ่มแรก 8,000 กว่าคน มีประวัติทำร้ายตนเองมุ่งหวังให้เสียชีวิต เป็นกลุ่มที่มีจำนวนมากที่สุด รองลงมาเป็นกลุ่มที่มีประวัติก่อคดีรุนแรง เช่น ฆ่า, พยายามฆ่า, ข่มขืน, วางเพลิงประมาณ 5,000 คน

ส่วนอีก 2 กลุ่มที่เหลือ กลุ่มละประมาณ 4,000 คน เป็นกลุ่มที่มีอาการหลงผิด มุ่งร้ายคนอื่นแบบเจาะจง และกลุ่มที่มีประวัติทำร้ายผู้อื่นด้วยวิธีรุนแรง

สถิตินี้น่าตั้งข้อสังเกต เพราะปีงบประมาณ 2565 ยังมีผู้เข้ารับบริการในกลุ่มนี้ อยู่ที่ประมาณ 7,500 คนเท่านั้น และที่น่าตกใจไปกว่านั้น ในจำนวนผู้เข้ารับบริการ มีผู้ที่อยู่ในข่ายเฝ้าติดตามอาการจากแพทย์แค่ 6,000 กว่าคน หรือ ประมาณ 20 กว่าเปอร์เซ็นต์เท่านั้น

และถ้าคุณผู้ชมยังจำได้ ตอนเดือนกันยายน กรมสุขภาพจิต เผยสถานการณ์การฆ่าตัวตายในไทย พบว่าเพิ่มขึ้น จากเดิม 6 คนต่อประชากร 100,000 คน กลายเป็น 8 คน ต่อประชากร 100,000 คน เท่ากับว่าแต่ละปีจะมีการฆ่าตัวตายสำเร็จประมาณ 7,000 คน

แม้สถานการณ์จะค่อย ๆ เพิ่มสูงขึ้น แต่เราเองก็มีวิธีแยกแยะได้ว่าตัวเองกำลังป่วยเป็นจิตเวชอยู่หรือเปล่า สังเกตได้อย่างไร มีอาการนอนไม่หลับ หรือ นอนมากเกินไป จนกระทบกับการใช้ชีวิต, อยากอยู่คนเดียว ไม่อยากใช้ชีวิตตามปกติ ไม่ดูแลตัวเอง, เจ็บป่วยทางกายแบบหาสาเหตุไม่ได้, ไม่อยากกินอะไรเลย หรือ กินมากเกินจนควบคุมไม่ได้, ไม่มีสมาธิ ตัดสินใจเรื่องธรรมดาไม่ได้, มีพฤติกรรมหุนหันพลันแล่น มั่นใจในตัวเองเกินปกติ, มีอารมณ์ซึมเศร้า คิดว่าตนเองไร้ค่า ร้องไห้บ่อย ตำหนิตัวเอง

สัญญาณเหล่านี้ไม่ใช่เป็นอันหนึ่งอันใดแล้วหมายถึงว่าเราจะป่วย ต้องมีหลาย ๆ อาการประกอบกัน ซึ่งถ้าเริ่มรู้สึกว่าเข้าข่ายอาการเหล่านี้ อย่าอายที่จะไปพบหมอ เพราะต้นตอมาจากสารเคมีในสมองไม่ปกติ ซึ่งก็เหมือนกับคนป่วยไข้ทั่วไป เพียงแต่รักษาให้หายเองได้ยาก ดังนั้นควรได้รับการบำบัดรักษาที่ถูกต้องจะดีกว่า

ข่าวที่เกี่ยวข้อง