เล่นแอปฯดัง กระตุ้นโรคจิตแฝง อาจารย์หมอสุรัตน์พบเคส ญาติต้องเอามาส่ง รพ. อัลกอริทึมสำหรับฟีด ทำให้คนติดหนึบ ออกแบบ “แบบเหยื่อล่อสมอง” เอาชนะการยับยั้งชั่งใจในสมอง กระตุ้นให้สมองหลั่งสารโดปามีน เหมือนการเสพติดยาเสพติด
โซเชียลมีเดีย กระตุ้นโรคจิตแฝง วันนี้ (6 พ.ย.66) ผศ.นพ.สุรัตน์ ตันประเวช แพทย์เวชปฏิบัติทางประสาทวิทยาที่มีความเชี่ยวชาญพิเศษด้านสมองและความผิดปกติทางประสาทวิทยา เปิดเผยข้อมูลด้านสุขภาพผ่านเพจเฟซบุ๊ก สาระสมองกับ เล่นแอปฯดัง กระตุ้นโรคจิตแฝง ญาติต้องเอามาส่ง รพ. สผู้ป่วย เล่น Tiktok และ Reel กระตุ้น โรคจิตแฝง”
ข้อความตอนหนึ่ง อาจารย์หมอสุรัตน์ เปิดเผยว่า เร็ว ๆ นี้ พบผู้ป่วยหญิง อาชีพรับราชการ อายุประมาณ 40 ปี เล่น Tiktok ติดงอมแงม ต่อมาเห็นภาพหลอน ซึ่งปกติคนไข้หูแว่วประสาทหลอน เป็นคนไข้จิตเวช แต่เคสนี้รับปรึกษาอายุรกรรมสมอง เพราะเป็นเร็ว เป็นแปลก ๆ ผู้ป่วยคนนี้ เล่น Tiktok และ Reel มา 4 เดือน โพสต์ทุกวัน ดูวิดีโอวน ๆ ไปมา กดทั้งไลก์ ทั้งแชร์
คนไข้บอกว่า “ มันสนุก รู้ใจ หัวเราะไป หลุดโลกความจริง จนผลิตคอนเทนต์เอง วิ่งตาม ไลก์และแชร์ คือมีคน กดไลก์ กดแชร์ หรือเข้ามาคอมเมนต์ แล้วมีความสุข โดปามีนหลั่ง คนไข้คนนี้ ในช่วง 5 วันนี้ ได้ยินมีคนกระซิบให้ทำวิดีโออย่างนั้น อย่างนี้ บอกเทคนิค เริ่มหลอนเห็นคนมาคุยด้วย มากระซิบ หรือเห็นผู้ชายใส่ชุดดำมาตาม จนญาติเอามาส่งโรงพยาบาล”
อาจารย์หมอสุรัตน์ เผยด้วยว่า เรื่องแบบนี้ ไม่ใช่เรื่องที่ไม่เคยเจอ เพราะเดือนก่อนก็พบ ป้าคนหนึ่ง นั่งเล่น Tiktok วนไป โลกหลุดไปอยู่ใน Tiktok วนหาทางออกไม่เจอ พอมาในชีวิตจริง ก็มีชีวิตหลอน Tiktok หลุดออกมาอยู่ด้วย มีคนบอกให้ทำนั่นนี่ Video วน Loop และความหลอน เราก็สงสัยเล่นวน ๆ ไป สนุกดี หัวเราะก๊าก ๆ ไม่เห็นเป็นไรเลย ไถไปเรื่อย ๆ เป็นวัน ลืมคืนก็สนุกดี แต่คนที่มีโรคจิตแฝง หรือภาวะทางอารมณ์ไม่มั่นคง อาจไม่ใช่
“คนเป็นจิตเภท Schizophrenia นี่บางทีแยกโรคจริง-โรคไม่จริง ไม่ออก และมักเสพคอนเทนต์ หลุดจากความจริง อัลกอรึธึมก็จับ คราวนี้ feed ใส่หนัก ๆ ทำให้หลอนหนักไปอีก”
Tammy Qiu จาก Stanford University Human-Centered Artificial Intelligence ได้กล่าวถึงความเห็นของนักจิตวิทยาที่มีต่อโซเชียลมีเดีย ที่มีอัลกอริทึมสำหรับฟีด (feed) ทำให้คนติดหนึบว่า “การออกแบบวิดีโอหรือคอนเทนต์ และการไถ ฟีด แบบไม่สิ้นสุดแบบนี้ เป็นออกแบบ “แบบเหยื่อล่อสมอง” หรือ ที่เรียกว่า Hook โดยการออกแบบหวังเอาชนะการยับยั้งชั่งใจในสมอง โดยการกระตุ้นให้สมองหลั่งสารโดปามีน (dopamine) ซึ่งเหมือนการเสพติดยาเสพติด”
“โดปามีน” (Dopamine ) ทำให้เกิดโรคจิตได้ด้วย คือมันแชร์จุดกำเนิดเดียวกัน ยาต้านโรคจิตจึงใช้ยาที่ต้านสาร โดปามีน Dopamine เช่น Haloperidol
ในปี 2021 นักวิจัย Ghosh และคณะ ตีพิมพ์ในวารสาร International Journal of Recent Scientific Research ก็รายงานคนไข้ที่ติดวิดีโอ Tiktok แล้วก็เกิดอาการหลอน โรคจิตกำเริบแบบนี้เหมือนกัน บางคนหลอนมีคนสั่งโน่นนี่
อาจารย์หมอสุรัตน์ ระบุว่า ส่วนตัวคิดว่า เหตุที่ทำให้หลอนจากแพลตฟอร์มวิดีโอ แบบ Tiktok หรือ Reel แบบนี้ เป็นได้หลายประการ
1. การเล่นจนติดนานๆ กระตุ้น โดปามีน Dopamine สูงขึ้น นั่นก็เป็นสาเหตุของจิตหลอน
2. ส่วนใหญ่คนปกติทั่วไป ไม่น่าจะเป็นอะไร แต่ใครเป็น trait คือโรคจิตแฝงที่รอการกระตุ้น ก็อาจแสดงอาการได้ง่ายขึ้น
3. วิดีโอ ที่มีลักษณะหลอน ๆ มีเยอะ ทั้งที่แบบสาวจีนร้องเต้น ภาษาอะไรก็ไม่รู้ ต๊อก ๆ วนไป วนมา นี่ก็หลอน คนทำเสียงดัง ๆ กรี๊ด ๆ นี่ก็หลอน ที่ทำแบบ Live แล้วเจอกับคนที่ทำท่าแปลกๆ พูดจาเหมือนหุ่นยนต์ แถมทำแบบนี้วนซ้ำ ๆ ที่เรียกว่า NPC Live หรือการแสดงเป็นบอท (bot) คนโรคจิต อาจดูหลอน ๆ ก็ได้
4. อัลกอริทึม ที่มันจะฟีด แต่เรื่อง ๆ ที่เราดู ก็จะทำให้คนที่ชอบดูอะไรแปลก ๆ หลอน ๆ ได้รับ ฟีดอยู่นั่นแหละนะ ไม่หลุดไปสักที อยู่ในโลกที่หลุดจากความจริง
5. ในทางกลับกัน คนที่เป็นโรคจิตเวช บางทีไม่กล้าหรือไม่อยากออกไปสังคม ก็ใช้ Tiktok หรือ Reel หรือโซเชียลมีเดียอื่น ๆ นี่ล่ะแหละเป็นช่องทาง
อาจารย์หมอสุรัตน์ แนะนำให้ดูแลบุตรหลาน หรือ คุณแม่ที่แก่เฒ่า ว่าเล่นโซเชียลมีเดียมากไปหรือไม่ เล่นแล้วมีสับสน ในโซเชียลมีเดียกับความจริงไหม หรือดูแล้วหลอนไหม หากมีอาการก็ชวนกับไปพบจิตแพทย์