เล่นแอปฯดัง กระตุ้นจิตเวช ผลวิจัยสแกนสมองอาสาสมัครคนเล่นโซเชียลมีเดีย พบสมองส่วนคุมอารมณ์ฝ่อลง อจ.หมอสุรัตน์ ยกเคสผู้ป่วยซึมเศร้า เคยตอบสนองต่อรักษา เสียดายมากน้องเป็นเด็กน่ารัก ฆ่าตัวจากไปแล้ว ตัวกระตุ้นแรงมาก เจอหมอ 2 เดือนครั้ง แต่อยู่กับโลกออนไลน์ กระตุ้น 24 ชม. ย้ำข้อดีมีให้เลือกใช้ให้พอดี
ความคืบหน้าหลังการออกมาเปิดเผย พบผู้ป่วยเพศหญิง อาชีพรับราชการ อายุประมาณ 40 ปี เล่น TikTok และ Reel แบบติดงอมแงม กระตุ้นโรคจิตแฝง เห็นภาพหลอน
วันนี้ (7 พ.ย.66) ผศ.นพ.สุรัตน์ ตันประเวช แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสมองและระบบประสาท เปิดเผยอีกครั้งผ่านเพจเฟซบุ๊ก สาระสมองกับ อจ.หมอสุรัตน์ โดยข้อความตอนหนึ่งระบุว่า เรื่องที่เป็นข่าว กรณีเล่น Tiktok เล่น reel หรือเล่น facebook ทำให้เกิดภาวะทางจิตเวชได้ ซึ่งมันคงแล้วแต่คน หากใช้มากเกินไป หรือเล่นเยอะเกินไป (overuse) จริงๆ มันเปลี่ยนโครงสร้างสมองแน่ๆ
อาจารย์หมอสุรัตน์ ได้ยกงานวิจัย ที่นำอาสาสมัครมาเข้าเครื่องสแกนสมอง พบว่า คนที่เล่นโซเชียลมีเดีย (social media) บ่อย มีสมองส่วน grey matter ของ nucleus accumben ฝ่อลง ส่วนนี้ มีความสำคัญที่การคุมอารมณ์ การกระตุ้นความอยากเล่น การให้รางวัลความสุข เหมือนสารเสพติด คือ มันเปลี่ยนโครงสร้าง ปัญหาคือ เมื่อเปลี่ยนโครงสร้างแล้วไงต่อ คำตอบคือ ไม่รู้ โครงสร้างที่เปลี่ยนจะกลับมาไหม ก็ไม่รู้ คนที่มีอาการอ่อนไหว จิตเวชแฝง ซึมเศร้าแฝงจะเป็นอย่างไร คำตอบอยู่ที่ rate การเกิดซึมเศร้าในสังคมก็เพิ่มขึ้นชัด
“คนไข้คนหนึ่งเป็นซึมเศร้า และติดโซเชียลมีเดียหนักมาก รักษาด้วย TMS อาการดีขึ้นไปพักหนึ่ง กลับไปกินยา รักษาต่อกับคุณหมอใกล้ๆ บ้าน ตอนนี้ฆ่าตัวตายไปแล้ว เสียดายมาก เป็นเด็กน่ารัก พูดได้หลายภาษา พ่อแม่เป็นเจ้าของรีสอร์ต ตอนมาพบครั้งแรก หน้าตาแบบ robot คงเพราะดื้อยา จึงกินยาเยอะมากๆ จนตาไม่กระพริบ พยายามกันทั้งหมอจิตเวชและทั้งครอบครัว แต่ตัวกระตุ้นสมัยนี้มันแรงเหลือเกิน เจอหมอ 2 เดือนครั้ง แต่อยู่กับโลกออนไลน์ กระตุ้น 24 ชม.
โลกเปลี่ยนไว มนุษย์เปลี่ยนตามไม่ทัน เทคโนโลยีขโมยเวลาของเรา เพื่อจุดประสงค์คือตอบสนองยอด Like ยอด Share ตามแพลตฟอร์ม (platform) ที่ออกแบบมาในกลยุทธ Hook คือเหยื่อตกปลา คือ เราเป็นปลา ยอด like คือเหยื่อ ใคร Win ? ข้อดีมันก็มี เลือกใช้เอา ติดคอนเทนต์ พัฒนาตัวเอง ติดธรรมมะ ติดออกกำลัง เอาให้เป็นแบบนี้