สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ที่จังหวัดระยอง

View icon 270
วันที่ 7 พ.ย. 2566 | 20.02 น.
ข่าวในพระราชสำนัก
แชร์
เวลา 08.17 น. วันนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปยังอาคารเรียนรวมสถาบันวิทยสิริเมธี อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง ในการพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากสถาบันวิทยสิริเมธี ประจำปีการศึกษา 2565 ในระดับปริญญาเอกและปริญญาโท รวม 35 คน โอกาสนี้ พระราชทานทุนการศึกษา "ศรีเมธี" แก่นิสิตที่มีผลการเรียนระดับดีเยี่ยม ประจำปีการศึกษา 2565 จำนวน 4 คน และพระราชทานประกาศนียบัตรแก่ผู้แทนนักเรียนโรงเรียนกำเนิดวิทย์ ที่สำเร็จชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 รุ่นที่ 6 จำนวน 2 คน

สถาบันวิทยสิริเมธี หรือ VISTEC เป็นสถาบันการศึกษาระดับปริญาโทและปริญญาเอก ที่มุ่งเน้นการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยมีศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นแนวหน้า เพื่อให้นิสิตสามารถทำงานวิจัยเชิงลึก สร้างองค์ความรู้ใหม่ที่เป็นงานวิจัยชั้นแนวหน้าในระดับสากล ปัจจุบันมี 4 สาขาวิชา ได้แก่ สาขาวิชาวิทยาการโมเลกุล, สาขาวิชาวิทยาการพลังงาน, สาขาวิชาวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมชีวโมเลกุล, และสาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ

ส่วนโรงเรียนกำเนิดวิทย์ จัดการเรียนการสอนด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย โดยปีการศึกษา 2565 มีนักเรียนสำเร็จการศึกษา 69 คน
       
ในการนี้ พระราชทานพระราโชวาท ความว่า "บัณฑิตเมื่อจบการศึกษา บางคนอาจจะศึกษาต่อ บ้างก็ไปทำอาชีพการงาน แต่ไม่ว่าจะทำสิ่งใด ทุกคนอย่าได้ละทิ้งความอุตสาหะ ความพากเพียรพยายามในทางสุจริต ที่จะนำไปสู่ความสำเร็จทั้งในหน้าที่การงานและการดำเนินชีวิต เมื่อเกิดปัญหาใด ๆ ก็ให้วิเคราะห์ถึงสาเหตุให้รอบด้าน มีเหตุมีผล และใช้ความรู้ที่เล่าเรียนมาในการแก้ไขปัญหา ประการหนึ่งที่จะละทิ้งไม่ได้ คือต้องหมั่นศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม หมั่นฝึกฝนตนเองอยู่เสมอ เป็นการพัฒนาตนเอง หากทำได้ดังนี้ก็จะประสบผลสำเร็จ ผลของงานเป็นประโยชน์แก่ตนเอง แก่ผู้อื่น หรือสังคมส่วนรวม"

จากนั้น เสด็จพระราชดำเนินไปยังสำนักวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ สถาบันวิทยสิริเมธี ซึ่งตั้งขึ้นโดยการสนับสนุนของธนาคารไทยพานิชย์ จำกัด (มหาชน) เปิดการสอนเมื่อปี 2560 ในหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต และหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต เน้นสร้างบุคลากรให้เป็นผู้นำด้านงานวิจัยทางเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ปีการศึกษา 2564-2565 มีผลงานตีพิมพ์ในวารสารชั้นนำ 58 ฉบับ ได้รับการยอมรับด้าน Computer Science ในระดับนานาชาติ และยังสนับสนุนทุนวิจัย เพื่อผลิตงานวิจัยที่เป็นประโยชน์กับสังคม

โอกาสนี้ ทรงเปิดห้องปฎิบัติการวิจัย Wangchan Advanced Industrial Labs มีห้องปฎิบัติการวิจัยอุตสาหกรรม เทคโนโลยีเซนเซอร์ ปัญญาประดิษฐ์ และหุ่นยนต์ พร้อมทอดพระเนตรผลงานของกลุ่มวิจัย Interfaces Lab ซึ่งเป็นนักวิจัยไทย ที่ได้วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อลดช่องว่างระหว่างมนุษย์และเครื่องจักร เน้นการพัฒนาเทคโนโลยีด้านสุขภาพแห่งอนาคต ได้แก่ ปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ เพื่อปรับปรุงบริการด้านสุขภาพ อาทิ โครงการปัญญาประดิษฐ์ตรวจจับเซลล์มะเร็งต่อมน้ำเหลือง จากภาพถ่ายเนื้อเยื่อย้อมสี โดยผู้วิจัยได้พัฒนาระบบ Pseudocell ช่วยให้การวินิจฉัยตรวจจับเซลล์มะเร็งได้อย่างแม่นยำขึ้น, โครงการ B-Sense เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ สำหรับติดตามคุณภาพการหายใจขณะนอนหลับ เพื่อช่วยแพทย์คัดกรองการทำงานของหัวใจที่ผิดปกติ เป็นความร่วมมือของสถาบันวิทยสิริเมธี โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลปัตตานี และธนาคารไทยพานิชย์ จำกัด (มหาชน) ชุดตรวจจับการทำงานของหัวใจหลายรูปแบบ และปัญญาประดิษฐ์สำหรับการดูแลคนไข้โรคหัวใจ

ผลงานของกลุ่มวิจัย Brain Lab อาทิ โครงการ Hero ระบบหุ่นยนต์ชนิดควบคุมระยะไกล เพื่อตรวจสอบภายในถัง ช่วยลดขั้นตอน ลดความเสี่ยง ในการตรวจสอบถังบรรจุปิโตรเลียม และก๊าซธรรมชาติ, โครงการ Black Mirror หรือ เทคนิคการควบคุมการเคลื่อนไหวแบบใหม่ สำหรับหุ่นยนต์มีขา หรือหุ่นยนต์แมลง ให้สามารถเรียนรู้การเดินด้วยตัวเอง ภายในระยะเวลารวดเร็ว สามารถประยุกต์ใช้ในการสำรวจ และตรวจท่อส่งก๊าซใต้ทะเลในอุตสาหกรรม และระบบควบคุมโดรนอัตโนมัติ เพื่อหลบหลีกสิ่งกีดขวาง สำหรับนำไปใช้ในระบบอุตสาหกรรม เช่น การสำรวจพื้นที่ก่อสร้าง การขนส่งวัตถุ รวมถึงงานที่มีความเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุ หุ่นยนต์จึงเป็นทางเลือกสำคัญ เพื่อความปลอดภัย และมีประสิทธิภาพ

จากนั้น เสด็จพระราชดำเนินไปยังโรงเรือนสาธิตเทคโนโลยีชีวภาพ ทอดพระเนตรภาพรวมโครงการเทคโนโลยีชีวภาพเพื่อ Net Zero เกษตรยั่งยืนและอาหารปลอดภัย เพื่อพัฒนาและใช้งานนวัตกรรม แปลงองค์ความรู้จากการวิจัยชั้นแนวหน้า ให้เกิดเป็นนวัตกรรมด้าน BCG ที่ใช้งานได้จริง เกิดการสร้างมูลค่าด้านเศรษฐกิจและขยายผลได้อย่างยั่งยืน โดยทีมวิจัยของสำนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมชีวโมเลกุล สถาบันวิทยสิริเมธี ร่วมกับภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชน ที่เกี่ยวข้องกับสังคมและชุมชน ได้แก่ ด้าน Net Zero ทำระบบถังหมักก๊าซชีวภาพและสารบำรุงพืชชีวภาพประสิทธิภาพสูง เพื่อการพัฒนาเมืองและชุมชนที่ยั่งยืน หรือ "ถังสุดดี" ที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2561 เป็นระบบจัดการขยะเศษอาหารด้วยเทคโนโลยีชีวภาพ สามารถผลิตก๊าซชีวภาพ เพื่อใช้เป็นแหล่งพลังงานทดแทนก๊าซหุงต้ม และผลิตสารบำรุงพืชชีวภาพ แก้ปัญหาการจัดการขยะเศษอาหาร เป็นการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม

ด้านเกษตรยั่งยืน ผลิตสารบำรุงพืชชีวภาพไบโอวีส โดยใช้เทคโนโลยีการหมักแบบไร้ออกซิเจน ด้วยหัวเชื้อจุลินทรีย์จำเพาะสูง เป็นสารบำรุงพืชชีวภาพที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไร้สารเคมีอันตราย และผ่านการกำจัดเชื้อด้วยความร้อนสูงในขั้นตอนสุดท้ายของการผลิต เพื่อยกระดับความปลอดภัย ได้รับการรับรองและควบคุมคุณภาพตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์

ด้านอาหารปลอดภัย การใช้สารเคมีทางการเกษตรทำให้เกิดการปนเปื้อนในดิน แหล่งน้ำ และผลผลิตทางการเกษตร เทคโนโลยีลูมอส เป็นเทคโนโลยีเอนไซม์ที่สามารถย่อยสลายและตรวจวัดสารกำจัดศัตรูพืชได้อย่างมีประสิทธิภาพ สนับสนุนเกษตรอินทรีย์และอาหารปลอดภัย เพื่อคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีของผู้บริโภค และเกษตรกรไทย

โครงการสร้างนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนอุตสาหกรรมชีวภาพและชุมชนที่ยั่งยืน ณ จังหวัดน่าน หรือ โครงการ CIAN โดยธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สนับสนุนให้ชุมชนในจังหวัดน่าน เป็นตัวอย่างการจัดการทรัพยากรป่าไม้และสิ่งแวดล้อม โดยใช้องค์ความรู้และนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เช่น ปงสนุกโมเดล ตำบลปงสนุก อำเภอเวียงสา ทำให้เป็นชุมชน Zero Waste ปลอดการใช้สารเคมีอันตรายในการเกษตร สร้างเทคโนโลยีสนับสนุนการปลูกสมุนไพร และการผลิตสารที่มีฤทธิ์ทางยาจากพื้นที่ป่า และการทดสอบสารบำรุงพืชชีวภาพเพื่อการปลูกสมุนไพร ซึ่งตรวจวัดได้แม่นยำ รวดเร็ว เป็นประโยชน์กับกระบวนการผลิตและควบคุมคุณภาพในระดับอุตสาหกรรม เช่น ชุดตรวจปริมาณสารสำคัญในขมิ้นชันด้วยวิธีทางเคมีไฟฟ้า

เวลา 13.01 น. เสด็จพระราชดำเนินไปศูนย์ปฏิบัติการอัจฉริยะ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ทอดพระเนตรความก้าวหน้าด้านนวัตกรรมของวังจันทร์วัลเล่ย์ และกลุ่มธุรกิจใหม่ ปตท. อาทิ นวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม ซึ่ง ปตท.กำหนดเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero Emissions ภายในปี ค.ศ. 2050 หรือ พ.ศ. 2593 โดยมี 3 กลยุทธ์ คือ เร่งปรับกระบวนการผลิต ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด, เร่งเปลี่ยนสู่ธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม, และเร่งปลูกป่าเพิ่ม ส่วนความก้าวหน้าด้านนวัตกรรมของสถาบันนวัตกรรม ปตท. ดำเนินงาน 3 เรื่อง คือ ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ด้วยการดักจับ กักเก็บ และใช้ประโยชน์, การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ถือเป็นการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ, และการเปลี่ยนผ่านสู่การใช้พลังงานพลังงานสะอาด เช่น การพัฒนานวัตกรรมที่ส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า อาทิ แบตเตอรี่สำหรับการกักเก็บพลังงานในรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า

นอกจากนี้ ได้ทอดพระเนตรความก้าวหน้าของนวัตกรรมด้าน Life Science ขับเคลื่อนผ่าน บริษัท อินโนบิก (เอเชีย) จำกัด ดำเนินธุรกิจ 3 กลุ่ม คือ ยา, เทคโนโลยีทางการแพทย์, และอาหารเพื่อสุขภาพ รวมทัังการผลิตอาหารแพลนท์เบส ความก้าวหน้าของนวัตกรรมด้าน AI & Robotics ครอบคลุมเทคโนโลยีด้านต่าง ๆ เช่น เทคโนโลยีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและส่งเสริมสังคมคาร์บอนต่ำ, เทคโนโลยีส่วนประกอบของรถยนต์อัจฉริยะ ยานยนต์ขับขี่อัตโนมัติ, เทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ รวมทั้ง service robot เช่น หุ่นยนต์เสิร์ฟ ส่งของ ทำความสะอาด นอกจากนี้ ยังมีเทคโนโลยีการสำรวจข้อมูลระยะไกลและปัญญาประดิษฐ์ในการดำเนินงานภาคป่าไม้แบบครบวงจร เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนให้เกิดการลดการปล่อย และเพิ่มการกักเก็บก๊าซเรือนกระจก ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมแบบครบวงจร ส่วนนวัตกรรมด้าน EV Ecosystem หรือ นวัตกรรมเพื่อยานยนต์ไฟฟ้า กลุ่ม ปตท.ได้สร้างระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้าแบบครบวงจร ตั้งแต่ธุรกิจต้นน้ำถึงปลายน้ำ เช่น ชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้า, การผลิตรถยนต์ไฟฟ้า, การทดลองใช้งานรถยนต์ไฟฟ้า และการสร้างโครงข่ายสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยขึ้นเป็นผู้นำด้านยานยนต์ไฟฟ้าระดับโลก

จากนั้น ทอดพระเนตรการสาธิตอุปกรณ์นวัตกรรม E-Plus by Nuovo Plus ของกลุ่ม ปตท. ซึ่งเป็นผู้พัฒนาผลิตภัณฑ์แบตเตอรี่ลิเธียมไอออน สำหรับระบบกักเก็บพลังงาน สามารถนำไปใช้งานได้หลายรูปแบบ เช่น ระบบกักเก็บพลังงานสำหรับกลุ่มธุรกิจเชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรม และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ รวมทั้งแบตเตอรี่เคลื่อนที่ ให้บริการสลับแบตเตอรี่สำหรับรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าแบบไม่ต้องรอชาร์จ ช่วยประหยัดน้ำมันและลดมลพิษ ใช้เวลาสลับแบตเตอรี่ไม่ถึง 3 นาที นอกจากนี้ยังมีแบตเตอรี่กักเก็บพลังงานสำหรับจักรยานยนต์ไฟฟ้า เป็นรูปทรงกระบอก ขนาด 2170 มีน้ำหนักเหมาะสม สามารถเปลี่ยนได้ทันทีไม่ต้องรอชาร์จ

ที่ชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า (PTT EV Charger) ที่จ่ายไฟผ่านหัวจ่ายแบบ Type 2 รองรับกำลังไฟฟ้า 7-22 กิโลวัตต์ โดย EV Charger มี 2 รุ่น คือ รุ่น Eco เป็นรุ่นพื้นฐานสำหรับติดตั้งใช้งานที่พักอาศัย ใช้งานได้ง่าย และปลอดภัย และรุ่น Smart ที่สามารถสั่งงานผ่านแอปพลิเคชัน เหมาะสำหรับการให้บริการที่ชาร์จสาธารณะ

เวลา 17.12 น. เสด็จพระราชดำเนินไปยังศูนย์เรียนรู้เกษตรนวัต ซึ่งสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา ร่วมกับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพด้านการศึกษาและวิจัยทางการเกษตร มีแหล่งเรียนรู้ "โรงเรือนอัจฉริยะ" โดยหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน เข้ามาถ่ายทอดความรู้การเกษตร และส่งเสริมให้นักเรียน มีประสบการณ์ทักษะอาชีพ อาทิ การแปรรูปเห็ด, และการทำไข่มุกจากน้ำสมุนไพร

โอกาสนี้ ทรงฟังบรรยายจากหน่วยงานที่สนับสนุนหลักสูตรสาขาวิชาเกษตรนวัต สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา อาทิ กรมวิชาการเกษตร จัดแปลงไม้ผลเศรษฐกิจ อาทิ มังคุด มะม่วงพระราชทานพันธุ์น้ำดอกไม้สีทอง และกาแฟ โดยเข้าไปพัฒนาพื้นที่รวม 35 ไร่ ส่วนใหญ่มีการเจริญเติบโตที่ดีตรงตามพันธุ์ มีพืชที่ให้ผลผลิตแล้ว ส่วนกาแฟ นําผลผลิตกาแฟโรบัสต้า ไปแปรรูปเป็นแบบแห้งและแบบเปียก พบว่าแบบแห้งคุณภาพอยู่ในระดับดี ส่วนแบบเปียกคุณภาพอยู่ในระดับดีมาก

ปัจจุบันมีนักเรียน นักศึกษา ระดับ ปวช.และ ปวส. 50 คน ไปฝึกอาชีพกับหน่วยงานต่าง ๆ เป็นเวลา 1 ปีการศึกษา นอกจากนี้ ได้พัฒนาพื้นที่ฝึกปฏิบัติการปลูกพืชกลางแจ้งแบบบูรณาการรายวิชา และกำลังพัฒนาหลักสูตรปริญญาตรี เชื่อมโยงการจัดการเรียนการสอนระดับ ปวช., ปวส.,และปริญญาตรี

กรมวิชาการเกษตร มาถ่ายทอดความรู้ อาทิ การทดลองปลูกผักในโรงเรือนอัจฉริยะ 14 โรงเรือน มีเกษตรกรเข้าร่วมด้วย ซึ่งเกษตรกรสามารถปลูกผักในโรงเรือนได้ตลอดทั้งปี มีรายได้เพิ่มขึ้น ร้อยละ 33 โดยได้ขยายผลสู่สมาชิกกลุ่มแปลงใหญ่ ตำบลป่ายุบใน และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผักปลอดภัย บ้านคลองหวายโสม  และได้ทดลองปลูกผักที่มีมูลค่า และเป็นที่นิยม อาทิ มะเดื่อฝรั่ง, บัตเตอร์นัท, และอะโวคาโด ส่วนพืชที่ปลูกใต้ร่มยางพารา ได้แก่ ดาหลา, เห็ดเยื่อไผ่ และโกโก้

และยังได้ทดลองปลูกเห็ดเยื่อไผ่ในโรงเรือนฯ ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีราคาสูง มีสารต้านอนุมูลอิสระ นำไปอบแห้ง จำหน่ายกิโลกรัมละ 5,000 บาท แปรรูปเป็นสบู่, เซรั่มบำรุงผิว, ช่วยให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชน มีรายได้เพิ่มขึ้น มีระบบเกษตรอัจฉริยะ หรือ เครื่องวิเคราะห์ธาตุอาหารในดิน เพื่อให้พืชเจริญเติบโตอย่างเหมาะสม 
   
ส่วนปราชญ์ชาวบ้านเข้ามาถ่ายทอดความรู้ การปลูกกาแฟพันธุ์โรบัสต้า เมล็ดกาแฟสดแปรรูปเจ้าแรกและเจ้าเดียวของอำเภอวังจันทร์ จำหน่ายภายใต้แบรนด์ คินทร์ ทั้งยังส่งเสริมให้เกษตรกรผู้ปลูกกาแฟ มีตลาดรับซื้อ ทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้ก่อสร้างระบบท่อส่งน้ำ เชื่อมต่อกับระบบผันน้ำประแสร์คลองใหญ่ ความยาว 2,972 เมตร เพื่อส่งน้ำให้แก่ศูนย์เรียนรู้เกษตรนวัต ประมาณ 300,000 ลูกบาศก์เมตรต่อปี

ต่อมา เสด็จพระราชดำเนินไปยังอาคารรัตนเกษตร ทรงฟังบรรยายสรุปการจัด "ค่ายส่งเสริมเกษตรนวัตด้านการใช้โดรนเพื่อการเกษตร" จาก บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด ซึ่งร่วมกับภาคเอกชน จัดอบรม "หลักสูตรอากาศยานไร้คนขับ (โดรน) ขั้นก้าวหน้า ประเภทใช้งานเพื่อการเกษตร" แก่ครู นักเรียน นักศึกษา ของสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา 3 รุ่น เพื่อให้มีความรู้ และทักษะในการบินโดรน เพื่อการเกษตรด้วยความปลอดภัย เป็นประโยชน์กับเกษตรรุ่นใหม่ (Smart Farmer) สอดคล้องกับนโยบายส่งเสริมกิจการบินของรัฐบาล และคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก โอกาสนี้ บริษัท อีซี่ (2018) จำกัด น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายโดรนเพื่อการเกษตร เพื่อใช้ในการฝึกอบรมฯ ของสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา

ศูนย์เรียนรู้เกษตรนวัต เป็นแหล่งส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพด้านการศึกษาและวิจัยทางการเกษตรแก่นักเรียน นักศึกษา ของสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา และเกษตรกร ผ่าน "โรงเรือนต้นแบบ" หรือ "ฟาร์มอัจฉริยะ" ในพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ โดยนำเทคโนโลยีสารสนเทศ เทคโนโลยีชีวภาพ และเทคโนโลยีทางการเกษตรสมัยใหม่ (Innovation Agriculture) มาบูรณาการให้เข้ากับเกษตรกรรมแบบดั้งเดิม เพื่อเพิ่มผลิตผลที่มีคุณภาพปลอดภัย ได้มาตรฐานสากล โดยในปี 2566 บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด สนับสนุนงบประมาณปรับปรุงภูมิทัศน์รอบสระน้ำของศูนย์เรียนรู้เกษตรนวัต และ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) สนับสนุนองค์ความรู้ด้านการฟื้นฟูระบบนิเวศ เกษตรกรรม และสิ่งแวดล้อมตามแผนความร่วมมือสร้างพื้นที่สีเขียว

ในการนี้ มีพระราชดำรัส แก่คณะผู้บริหารสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา และหน่วยงานที่ให้การสนับสนุน ของศูนย์เรียนรู้เกษตรนวัต

ข่าวอื่นในหมวด