องคมนตรี ตรวจเยี่ยมโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ที่จังหวัดพัทลุง สงขลา และปัตตานี

View icon 169
วันที่ 9 พ.ย. 2566 | 20.04 น.
ข่าวในพระราชสำนัก
แชร์
พลเรือเอก พงษ์เทพ หนูเทพ องคมนตรี ในฐานะประธานกรรมการบริหารมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และคณะ ไปตรวจเยี่ยมโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 65 อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง เดิมคือโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์พัทลุง ต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงรับเป็นโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ในโอกาสครบ 60 ปี มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ เมื่อเดือนกรกฎาคม 2566 เพื่อมอบโอกาสทางการศึกษาให้เด็กและเยาวชนได้เรียนหนังสือ และมีที่พัก โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ปัจจุบัน เปิดสอนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 เป็นโรงเรียนประจำ มีนักเรียน 262 คน จัดการเรียนการสอนแบบบูรณาการ เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ พร้อมส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม การมีจิตสาธารณะควบคู่การส่งเสริมอาชีพ เพื่อเป็นพื้นฐานการดำรงชีวิต สามารถพึ่งตนเองได้ มีการจัดกิจกรรม เช่น งานช่างพื้นฐาน, และเกษตรพอเพียง เลี้ยงสุกร ไก่ เพาะเห็ด ปลูกปาล์มน้ำมัน สามารถนำไปประกอบอาชีพและมีรายได้ระหว่างเรียน

ในตอนบ่าย ไปตรวจเยี่ยมโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 43 อำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา เปิดสอนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 มีนักเรียน 644 คน มีหลักสูตรทวิศึกษา ร่วมกับวิทยาลัยการอาชีพอำเภอนาทวี และสำนักงานอาชีวศึกษาจังหวัดสงขลา จัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนทั้งด้านร่างกาย สติปัญญา อารมณ์ และการอยู่ร่วมกับผู้อื่น เช่น กิจกรรมจิตอาสากับชุมชนและหน่วยงานภายนอก มีศูนย์การเรียนรู้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง พื้นที่ 30 ไร่ แบ่งเป็น ด้านประมง เลี้ยงปลากินพืช, เกษตร ปลูกพืช 5 ระดับ ทำเกษตรทฤษฎีใหม่ เพาะเห็ด, ปศุสัตว์ เลี้ยงแพะ ไก่ และเป็ด, และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ทำน้ำหมักชีวภาพ คัดแยกขยะ และโรงสีข้าว มีกิจกรรมส่งเสริมการมีรายได้ระหว่างเรียนทุกวันเสาร์ และอาทิตย์ จัดตลาดนัดในโรงเรียน ฝึกทักษะ 1 คน 1 อาชีพ เช่น ขนมโค นวดแพทย์ไทย และเสื้อพิมพ์ลาย

จากนั้น ไปตรวจเยี่ยมโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 40 อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี เปิดสอนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 มีนักเรียน 513 คน จัดการเรียนการสอน 4 รูปแบบ คือ วิชาสามัญ ยึดหลักสูตรแกนกลางขั้นพื้นฐาน, วิชาศาสนา หลักสูตรศาสนาอิสลามแบบเข้ม และหลักสูตรศาสนาพุทธ, การศึกษาเพื่อการมีงานทำ ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มีโครงการ 1 คน 1 อาชีพ สร้างรายได้ระหว่างเรียน และการสอนเด็กที่มีความต้องการพิเศษ

โอกาสนี้ ชมผลงาน อาทิ กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม รูปแบบสังคมพหุวัฒนธรรมระหว่างศาสนาพุทธและอิสลาม ทำให้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข, กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ สร้างกระบวนการคิดด้วยจินตคณิต และคณิตเส้นด้าย, กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานและพื้นฐานอาชีพ เช่น ปักลายด้วยเครื่องจักรคอมพิวเตอร์ และส่งเสริมอาชีพ เช่น สานกระเป๋าผักตบชวา ขนมปุตรีอายู ขนมพื้นถิ่นใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และการทำผ้าบาติก

ข่าวอื่นในหมวด