ย้อนรอยนโยบายทำงานสไตล์ เศรษฐา เดินหน้าดิจิทัลวอลเล็ต ส่อพับ

View icon 22
วันที่ 20 พ.ย. 2566 | 11.13 น.
ห้องข่าวภาคเที่ยง
แชร์
ห้องข่าวภาคเที่ยง - ปมการขับเคลื่อนนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ตอนนี้ก็ยังว้าวุ่นไม่เลิก เพราะยังคงต้องรอความเห็นของกฤษฎีกา ตีความออกมาก่อนว่าร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 500,000 ล้านบาท ที่จะมาใช้ในโครงการนี้ขัดกฎหมายใดหรือไม่ ก็เลยมีคนไปถามนายกฯ ว่า ถ้ากฤษฎีกาบอกไปต่อไม่ได้ จะทำอย่างไร ท่านก็ตอบแบบสั้น ๆ แต่ได้ใจความว่า ถือว่าเป็นความซวยของประเทศ เกิดคำถามตามมาทันที แสดงว่าถ้าขัดกฎหมายก็ไม่ไปต่อใช่หรือไม่

ก่อนอื่นเราไปย้อนดูแนวปฏิบัติในการทำงานของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่ต้องบอกว่า ฟิตเปี๊ยะ ขันน็อตทุกตัวตั้งแต่รัฐบาลเริ่มตั้งไข่ มีการมอบนโนบายให้กับรัฐมนตรี ในสัดส่วนของพรรคเพื่อไทย 16 คน ที่เมื่อวันที่ 4 กันยายนที่ผ่านมา ซึ่งนางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม หนึ่งในรัฐมนตรีที่อยู่ในที่ประชุม ก็ออกมาเปิดเผยถึงทิศทางการทำงาน ที่นายกรัฐมนตรี เศรษฐา มอบหมาย ใจความสำคัญที่เรียกเสียงฮือฮา ว่าไว้ คือ

"ตรงไหนที่ติดระเบียบ ต้องแก้ไขระเบียบ นโยบายใดที่เร่งด่วน สัญญากับประชาชนไว้ ห้ามบอกว่าทำไม่ได้ ต้องทำให้ได้ ติดกฎหมาย แก้กฎหมาย ติดระเบียบ แก้ระเบียบ ติดที่คน เปลี่ยนคน" ฟังแบบนี้ก็เรียกว่ารัฐบาลเศรษฐา เดินหน้าชนทุกปัญหา เพื่อทำตามสัญญากับประชาชน

แต่มาวันนี้ปมการเดินหน้าโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ที่มีเงื่อนไขสำคัญ คือ ต้องใช้วิธีกู้มาแจก โดยการเตรียมออก พ.ร.บ.กู้เงิน 500,000 ล้านบาท ซึ่งก็มีปัญหาว่า จะเข้าข่ายขัดกฎหมาย ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่

แต่ถึงรัฐบาล ยืนยันไม่มีปัญหา เพราะเข้าข่ายเร่งด่วนฉุกเฉิน และสอดคล้องกับ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง แต่เรื่องนี้ยังไงก็ต้องรอฟังความเห็นจาก คณะกรรมการกฤษฎีกาก่อน

ซึ่งท่านนายกฯ เพิ่งให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ ประชาชาติธุรกิจ ใจความสำคัญว่า "ถ้า พ.ร.บ.เงินกู้ไม่ผ่าน ก็ถือว่าเป็นความซวยของประเทศ ผมไม่รู้ว่า ผมพูดอย่างนี้ได้หรือเปล่า"

พอนายกฯ ส่งสัญญาณแบบนี้ ประชาชน คนรอเงิน ก็ว้าวุ่นเลย สงสัยกันเยอะว่า แบบนี้ก็เหมือนกับที่เขาดักคอกันมาตั้งแต่ต้นว่า รู้อยู่แล้วกู้เงินมีปัญหาข้อกฎหมาย ก็ยังเลือกวิธีการนี้ เพื่อใช้เป็นข้ออ้างไม่ทำโครงการต่อหรือไม่

และถ้าเทียบกับคำที่ นางมนพร เปิดเผยการมอบนโยบายของ นายกฯ เศรษฐา ที่เราบอกไปในตอนต้นว่า นโยบายใดที่เร่งด่วน สัญญากับประชาชนไว้ ห้ามบอกว่าทำไม่ได้ ต้องทำให้ได้ ติดอะไรแก้ตรงนั้น ไม่เว้นแม้แต่ติดที่คน ก็ต้องเปลี่ยนคน

ซึ่งหากจะปฏิบัติตามแนวนี้ ดิจิทัลวอลเล็ต ขัดกฎหมายก็ต้องแก้กฎหมาย หรือถ้าคนขับเคลื่อนนโยบายไม่ได้ ก็ต้องเปลี่ยนคน จึงต้องจับตาต่อว่า สุดท้ายดิจิทัลวอลเล็ตจะจบอย่างไร