สนามข่าว 7 สี - ช่วงนี้พื้นที่ชายแดนภาคใต้ เป็นช่วงมรสุม ชาวบ้านในจังหวัดยะลา ใช้วิธี "ยกยอ" จับปลาจากลำคลองขึ้นมาวางขายริมถนน เป็นรายได้เสริม กลายเป็นตลาดชั่วคราวขนาดหย่อม ๆ มีปลาสด ๆ มาวางขาย ติดตามจากคุณอรรถพล ดวงจินดา ในปักหมุดของดีทั่วไทย
ไปดูวิถีชีวิตของคนพื้นบ้าน ในช่วงฤดูฝน และช่วงน้ำหลากในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่บ้านจานหนัน ตำบลพร่อน อำเภอเมือง จังหวัดยะลา ที่มักจะออกมาหาปลา ด้วยภูมิปัญญาพื้นบ้าน อย่างการยกยอ เป็นอาชีพเสริมเลี้ยงครอบครัวกันแทบทุกปี โดยเฉพาะในช่วงน้ำหลาก จนกลายเป็นที่รู้กันของคนในพื้นที่ และจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า หากมีฝนตก หรือน้ำหลากเกิดขึ้น บริเวณริมถนนสายทางลัดลำใหม่-ยะลา หรือหน้าโครงการระบบระบายน้ำ ตำบลพร่อน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ บริเวณนี้จะมีปลาน้ำจืด ถูกจับขึ้นมาวางขาย จนกลายเป็นตลาดริมถนน ขนาดย่อม ๆ แบบชั่วคราวเกิดขึ้น ที่ชาวบ้านจะจับปลาจากในคลอง ขึ้นมาวางขายกันแบบสด ๆ ริมถนน ให้เลือกซื้อกันในราคาย่อมเยาว์นั่นเอง
อย่างปลาที่นำมาวางขาย จริง ๆ แล้ว ก็เป็นปลาตามธรรมชาติ ที่อยู่ในลำคลองตรงนี้ และพื้นที่ใกล้เคียง ขึ้นอยู่กับปริมาณฝนและระดับน้ำที่ไหลลงมา โดยปลาส่วนใหญ่ที่จับได้ ก็เป็นปลาเนื้อดี อย่างพวกปลาตะเพียน ปลาช่อน ปลากดเหลือง ปลาขี้ขม และปลาพื้นถิ่นอย่าง ปลาลามะ ที่ชาวบ้านยกยอขึ้นมาได้นั้นเอง
ปลาสด ๆ ที่นี้ใช่จะหากินกันง่าย ๆ เพราะจะจับขายได้เฉพาะในช่วงน้ำหลาก ซึ่งต้องบอกเลยว่า ช้าหมด อดกิน เพราะตลาดแห่งนี้ จะตั้งขายกันปีละไม่เกิน 2 สัปดาห์เท่านั้น ทำให้ชาวบ้านที่ขับรถผ่านไปผ่านมา ก็มักจะจอดรถ แวะซื้อปลากันคนละถุงสองถุง นำกลับไปทำเป็นอาหารรับประทานกันที่บ้าน
ส่วนราคาปลาเขียนไว้ชัดเจน ที่รับกันได้ทั้งคนซื้อและคนขาย ตั้งแต่ปลาไซค์เล็ก กิโลกรัมละ 50-60 บาท และกิโลกรัมละ 80 บาท สำหรับปลาตัวโตที่มีไข่ในท้องตัวสวย ๆ นั่นเอง
นอกจากนี้ ชาวบ้านยังนำปลาสดที่เหลือจากขาย นำไปแปรรูป หรือถนอมอาหาร ทำเป็นปลาส้ม ที่รู้จักและขายดี อย่างปลาส้มจานหนัน ที่ชาวบ้านรวมกลุ่มกันเป็นวิสาหกิจชุมชน จนช่วยเพิ่มมูลค่าให้ปลาพื้นถิ่น สามารถเก็บรักษาได้นาน และมีราคาเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัวนั่นเอง