ฉางอัน ออโตโมบิล หนุนไทยเป็นฐานผลิตรถไฟฟ้า เกิดการจ้างงาน 2,600 อัตรา

ฉางอัน ออโตโมบิล หนุนไทยเป็นฐานผลิตรถไฟฟ้า เกิดการจ้างงาน 2,600 อัตรา

View icon 65
วันที่ 27 พ.ย. 2566 | 11.53 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
ภูมิธรรม หารือ ปธ.ฉางอัน ออโตโมบิล ยักษ์ใหญ่ EV จีน หนุนลงทุนไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าครบวงจร เกิดการจ้างงานกว่า 2,600 อัตรา

วันนี้ (27 พ.ย.66) นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการหารือกับนายจรู ฮวาหลง (Mr.Zhu Huarong) ประธานบริษัทฉางอัน ออโตโมบิล และคณะ ว่า กระทรวงพาณิชย์ชื่นชมในการเติบโตและความสำเร็จของฉางอัน ออโตโมบิล ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทยานยนต์ยักษ์ใหญ่ของจีน ที่มีความเชี่ยวชาญในกระบวนการทำงานด้านต่าง ๆ ทั้งการวิจัยและพัฒนารถยนต์ รวมถึงทุกขั้นตอนในการทดสอบและตรวจสอบคุณภาพรถยนต์ รวมถึงได้ก่อตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนา 10 แห่ง ในกว่า 6 ประเทศ ในจีน อิตาลี ญี่ปุ่น อังกฤษ สหรัฐอเมริกา และเยอรมัน พร้อมร่วมมือกับแบรนด์รถยนต์ชื่อดังของโลกหลายแบรนด์ เช่น Ford / Mazda / Suzuki และ Peugeot เป็นต้น
     
โครงการลงทุนของฉางอัน ออโตโมบิล ได้รับการอนุมัติจาก BOI เมื่อเดือนตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา นับเป็นการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศครั้งสำคัญของไทยในปี 2566 และเป็นโครงการลงทุนครั้งใหญ่โครงการแห่งแรกนอกประเทศจีนของฉางอัน ออโตโมบิล มีเป้าหมายในการผลิตและการพัฒนาในภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง อาทิ เทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม ทรัพยากรมนุษย์ ห่วงโซ่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า โดยบริษัทจะพัฒนาโรงงานผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์น ซีบอร์ด 4 จังหวัดระยอง บนพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก คาดว่าจะสร้างรายได้กว่า 24,000 ล้านหยวน (ประมาณ 118,000 ล้านบาท) และเกิดการจ้างงานกว่า 2,600 อัตรา

“ด้วยการลงทุนในไทยเพื่อผลิตรถยนต์ไฟฟ้า EV, PHEV, REEV และแบตเตอรี เป็นการรวมหน่วยงานวิจัยและพัฒนา การผลิต การสนับสนุนชิ้นส่วน การจำหน่าย และการจัดส่งเอาไว้ในที่เดียวกัน ซึ่งจะช่วยสนับสนุนห่วงโซ่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของไทย เป็นประโยชน์ทั้งด้านเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ดีของทั้ง 2 ประเทศ” นายภูมิธรรมกล่าว

นายภูมิธรรมได้เสนอแนะให้บริษัทพิจารณาใน 3 เรื่อง 1.สนับสนุนการพัฒนาและวิจัย การผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์ยานยนต์ที่เป็น OEM (Original Equipment Manufacturer) 2.ส่งเสริมการยกระดับความเชื่อมโยงของอุตสาหกรรมต้นน้ำถึงปลายน้ำ (Supply Chain Management) และ3.ส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรด้านวิศวกรรมยานยนต์ไทย ให้แรงงานไทยที่มีศักยภาพได้เรียนรู้ถ่ายทอดเทคโนโลยีซึ่งจะเป็นประโยชน์กับ 2 ประเทศ

ทั้งนี้ ก่อนการหารือนายภูมิธรรม ได้ลองนั่งรถ EV รุ่นใหม่ของบริษัทที่นำมา จำนวน 2 รุ่น  SUV และซีดาน คือ รุ่น DEEPAL S07 และรุ่น DEEPAL L07 โดยทั้ง 2 รุ่นนี้ จะเป็นรุ่นที่มาผลิตและจำหน่ายในประเทศไทย โดยฉางอันมีเป้าหมายการลงทุนในไทย ประกอบด้วยบริษัทที่ดูแลการจำหน่าย โรงงานผลิตในประเทศ และผลิตชิ้นส่วนในประเทศ ที่ครอบคลุมทุกขั้นตอนการผลิต ตั้งแต่งานตัวถัง งานพ่นสี งานประกอบชิ้นส่วนเทคโนโลยีต่าง ๆ งานตรวจสอบคุณภาพอย่างละเอียด จนกลายเป็นรถยนต์ที่สมบูรณ์แบบ โดยวางกำลังการผลิตในระยะแรก 100,000 คันต่อปี เพื่อรองรับตลาดในประเทศ และส่งออกไปยังอาเซียน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อังกฤษ และแอฟริกาใต้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง