สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงเป็นประธานงาน "Silk Festival 2023 สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน"

View icon 326
วันที่ 29 พ.ย. 2566 | 20.04 น.
ข่าวในพระราชสำนัก
แชร์
เวลา 15.55 น. วันนี้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จไปยังศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น เซ็นเตอร์ ฮอลล์ 6-7 เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี ทรงเป็นประธานงาน "Silk Festival 2023 สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน" ซึ่งกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ร่วมกับสมาคมแม่บ้านมหาดไทย จัดขึ้นภายใต้แนวคิด "Silk Success Sustainability" เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เนื่องในโอกาสฉลองพระชนมายุ 3 รอบ 8 มกราคม 2566 และเพื่อสร้างการรับรู้ถึงผลสำเร็จของการขับเคลื่อนโครงการ "ผ้าไทยใส่ให้สนุก" ตามแนวพระดำริ ที่ทรงส่งเสริมและพัฒนาภูมิปัญญาผ้าไทย ทำให้เกิดการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการผ้าไทย ตลอดจนเป็นการอนุรักษ์ผ้าไทยให้คงอยู่คู่แผ่นดิน

โอกาสนี้ พระราชทานเหรียญรางวัล ได้แก่ เหรียญทอง เหรียญเงิน และเหรียญนาก แก่คณะทำงานกระทรวงมหาดไทยและกรมการพัฒนาชุมชน ที่สนองงานผ่านโครงการ "ผ้าไทยใส่ให้สนุก" ปี 2563-2566, พระราชทานเหรียญทองและเหรียญเงินแก่ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัด ผู้เป็นต้นแบบในการขับเคลื่อนโครงการ "ผ้าไทยใส่ให้สนุก", พระราชทานเหรียญรางวัลแก่ผู้ชนะการประกวดผ้าลายพระราชทาน "ผ้าลายดอกรักราชกัญญา" และงานหัตถกรรม ระดับประเทศ แบ่งเป็นรางวัลพิเศษ Best of the Best ได้รับพระราชทานเหรียญทองพร้อมสร้อยคอทองคำ 1 รางวัล ได้แก่ "กระบุงจักสานย่านลิเภาทรงฟักทอง เลี่ยมขอบทองแดง ชุบนาก" จากสถาบันสิริกิติ์ รวมทั้ง รางวัลเหรียญทอง เหรียญเงิน และเหรียญนาก ประเภทผ้าและประเภทงานหัตถกรรม รวม 28 รางวัล และประกาศนียบัตรแก่รางวัลชมเชย 28 รางวัล การประกวดผ้าลายพระราชทานฯ มีกลุ่มผู้ผลิต, ผู้ประกอบการ OTOP, ประเภทผ้า และเครื่องแต่งกาย, ช่างทอผ้าทั่วประเทศ และงานหัตถกรรม ส่งผ้าเข้าประกวดมาตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม - 4 สิงหาคม 2566 เป็นผ้า 14 ประเภท  6,290 ผืน และงานหัตถกรรม 796 ชิ้น

นอกจากนี้ ได้พระราชทานเหรียญรางวัลและประกาศนียบัตร แก่นักออกแบบตัดเย็บ "ชุดผ้าไทยใส่ให้สนุก", พระราชทานประกาศนียบัตรรางวัลต้นกล้านารีรัตน แก่ Young OTOP และรางวัล TOP 5 ผู้พัฒนาผลิตภัณฑ์ยอดเยี่ยม ตามโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ Premium สู่สากล ประเภทผ้า เครื่องแต่งกาย และของใช้ ของตกแต่ง ของที่ระลึก

จากนั้น ทอดพระเนตรนิทรรศการ Silk Festival 2023 ซึ่งจัดแสดงพระกรณียกิจ, สมุดภาพเฉลิมพระเกียรติฯ เนื่องในโอกาสฉลองพระชนมายุ 3 รอบ ในการนี้ ได้พระราชทานเครื่องหมายรับรองสินค้าแฟชั่นและหัตถกรรมพระราชทาน "Sustainable Fashion : แฟชั่นแห่งความยั่งยืน" ซึ่งทรงออกแบบเป็นภาพตัวอักษร S แก่ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และปลัดกระทรวงมหาดไทย เพื่อนำไปมอบแก่ช่างทอผ้า ช่างหัตถรรม ผู้ผลิต และผู้ประกอบการ ที่สร้างสรรค์ผืนผ้าและหัตถกรรมด้วยขั้นตอนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ปลอดภัยต่อผู้สร้างสรรค์ และผู้สวมใส่ตามแนวพระดำริ "ผ้าไทยใส่ให้สนุก" ด้วยมีพระประสงค์ให้ช่างทอผ้าพึ่งพาตนเองได้ ตั้งแต่ต้นน้ำ คือ การปลูกฝ้าย ปลูกหม่อน เลี้ยงไหม จนถึงปลายน้ำ คือ พัฒนาการออกแบบตัดเย็บและการจำหน่าย ตลอดจนสร้างอัตลักษณ์และบรรจุภัณฑ์ แล้วทอดพระเนตรนิทรรศการโครงการ "ผ้าไทยใส่ให้สนุก" ตามแนวพระดำริ ในการฟื้นฟูภูมิปัญญาหัตถศิลป์และการทอผ้าพื้นถิ่นของไทย ในการเสด็จไปทรงเยี่ยมช่างทอผ้าและผู้ประกอบการทั่วประเทศ ได้พระราชทานคำแนะนำและพระวินิจฉัยต่าง ๆ อาทิ "โครงการบาติกโมเดลสู่ตลาดสากล" ที่ส่งเสริม สนับสนุนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และระดมความคิด ไปสู่การพัฒนาผืนผ้าและผลิตภัณฑ์ให้มีความร่วมสมัย เกิดการพัฒนารูปแบบและยกระดับศักยภาพผลิตภัณฑ์ผ้าบาติกให้มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น, "โครงการนาหว้าโมเดล" ที่ฟื้นฟูภูมิปัญญา ลายผ้า และความเป็นมาของโครงการศิลปาชีพฯ เพื่อให้ช่างทอผ้าและชุมชน สามารถพึ่งพาตนเองในด้านการสร้างสรรค์ผืนผ้าอย่างยั่งยืน รวมทั้งรวบรวมลายผ้าโบราณในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งแต่ละลวดลายมีความเป็นเอกลักษณ์ทั้งด้านวิถีชีวิตและวัฒนธรรม ตลอดจนบูรณาการองค์ความรู้ ระหว่างช่างทอผ้าในชุมชน ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย และนักออกแบบ ทำให้เกิดผืนผ้าและผลิตภัณฑ์ที่มีความร่วมสมัย มีมาตรฐานเทียบเท่าระดับสากล, โครงการ Premium OTOP ที่สนับสนุนให้ผู้ประกอบการ พัฒนาอัตลักษณ์ประจำท้องถิ่นให้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว

จากนั้น ทอดพระเนตรการแสดงแบบภูมิปัญญาผ้าไทย โดยผลงาน 13 แบรนด์ไทย อาทิ SIRIVANNAVARI, ASAVA, ISSUE, เธียเตอร์, ธีระพันธุ์ และผู้ชนะการประกวดออกแบบตัดเย็บ "ชุดผ้าไทยใส่ให้สนุก" โดยแต่ละแบรนด์ ได้นำผ้าไทยที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นของแต่ละชุมชน เช่น ผ้าไหมแพรวา ผ้าไหมมัดหมี่ ผ้าไหมยกดอก ผ้าปักชาวเขา ผ้าไหมหางกระรอก ผ้าบาติก ผ้าฝ้ายย้อมคราม ผ้าขาวม้า และผ้าหางกระรอก มาตัดเย็บเป็นผลงานที่สะท้อนแนวคิด "ผ้าไทยใส่ให้สนุก" เพื่อแสดงถึงศักยภาพของการพัฒนาลายผ้าทอให้เข้ากับยุคสมัย แต่ยังคงอัตลักษณ์ของความเป็นไทยไว้ได้อย่างสมบูรณ์ นำไปสู่ Soft Power ด้านผ้าไทยอย่างแท้จริง ผู้สนใจสามารถเข้าชมนิทรรศการและเลือกซื้อผ้าไทย สินค้าและผลิตภัณฑ์จากผ้าไทยและงานหัตถกรรมชุมชนได้ ระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน - 3 ธันวาคม นี้

ข่าวอื่นในหมวด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง