เช้านี้ที่หมอชิต - ถึงจุดวัดใจรัฐบาลจะตัดสินใจตรึงต่าไฟต่อหรือไม่ หลังสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. เคาะขึ้นค่าเอฟที ส่งผลให้ค่าไฟเดือนมกราคมถึงเมษายน อาจขยับขึ้นไปอีกเกือบ 5 บาท
ย้อนกลับไปที่ การประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งแรกของรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน 13 กันยายน 2566 มีมติเห็นชอบตรึงค่าไฟจากเดิมที่ตามปกติจะต้องจ่ายที่ 4.45 บาทต่อหน่วย ในรอบบิลเดือนกันยายนถึงธันวาคม 2566 ให้เหลือ 4.10 บาทต่อหน่วย และต่อมา 18 กันยายน 2566 การกระทรวงพลังงาน สามารถเจรจาทำให้ค่าไฟฟ้าลดลงมาอีกที่ 3.99 บาทต่อหน่วย
ล่าสุด กกพ. มีมติเห็นชอบให้ปรับค่าเอฟทีขายปลีก สำหรับเรียกเก็บในงวดเดือนมกราคมถึงเมษายน 2567 เท่ากับ 89.55 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้อัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 69.07 สตางค์ต่อหน่วย เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.78 บาทต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้าเรียกเก็บของผู้ใช้ไฟฟ้าทุกประเภทเฉลี่ยรวมอยู่ที่ 4.68 บาทต่อหน่วย
โดยทาง กกพ. ให้เหตุผลว่า เป็นการปรับให้สะท้อนต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้น และคืนต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่ กฟผ. รับภาระไว้บางส่วน เพื่อให้ กฟผ. มีสภาพคล่องในการดำเนินงาน และชำระคืนเงินกู้เท่าที่จำเป็น พร้อมเชิญชวนประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าร่วมกันประหยัด และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าซึ่งจะเป็นการลดภาระค่าครองชีพสำหรับตัวท่านเอง และลดภาระโดยรวมให้กับประเทศชาติอีกทางหนึ่ง
หลังจากนี้ หากรัฐบาลต้องการให้ค่าไฟฟ้าไม่สูงขึ้น ตามที่ กกพ. ได้คำนวณไว้ ก็จะต้องมีนโยบายออก มาอีกครั้งว่าจะเอาอย่างไรต่อไป นี่คือจุดวัดใจรัฐบาลสำหรับมาตรการช่วยเหลือประชาชน เพราะต้องยอมรับว่าขณะนี้ค่าครองชีพสูงจริง ๆ