สำนักงานสถิติแห่งชาติ ทำโพลถาม ปชช. คิดอย่างไรกับดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่น

สำนักงานสถิติแห่งชาติ ทำโพลถาม ปชช. คิดอย่างไรกับดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่น

View icon 74
วันที่ 6 ธ.ค. 2566 | 10.19 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
ดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท สำนักงานสถิติแห่งชาติออกแบบสำรวจถาม ปชช. ทั่วประเทศ คิดเห็นอย่างไร ถามละเอียดยิบเข้าใจหรือไม่ มองเป็นผลดีหรือผลเสีย ถ้าต้องกู้มาแจกเห็นด้วยหรือไม่ ควรไปต่อหรือหยุดดำเนินการ

วันนี้ (6 ธ.ค.66) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้ทำโพลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับนโยบายเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet (เงินดิจิทัล 10,000 บาท) พร้อมเชิญชวนประชาชนให้ร่วมตอบแบบสอบถามผ่านช่องทางออนไลน์ ผ่านลิงก์https://survey123.arcgis.com/share/e4ed7faa2f3a45589769e893fb21cf46?portalUrl=https://esurvey.nso.go.th/portal ตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 15 ธ.ค.66

โดยคำถามแยกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกสอบถามถึงความเข้าใจของประชาชนที่มีต่อนโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท รวม 10 คำถาม เริ่มต้นด้วยการสอบถามที่อยู่ปัจจุบันโดยระบุรายชื่อจังหวัด
ข้อ 1 ท่านทราบข่าวสารเรื่องนโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท ที่ให้คนไทยที่มีอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป หรือไม่ หากทราบอยากให้ระบุ ช่องทางที่ทราบข้อมูลข่าวสาร
ข้อ 2 ท่านทราบหลักเกณฑ์เบื้องต้นที่ได้กำหนดเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2566 ในการได้รับเงินดิจิทัล 10,000 บาท ของนายกรัฐมนตรี (นายเศรษฐา ทวีสิน) หรือไม่ เช่น กลุ่มคนอายุ 16 ปีขึ้นไป มีรายได้ไม่ถึง 70,000 บาทต่อเดือน และมีเงินฝากไม่เกิน 500,000 บาท ระยะเวลาใช้สิทธิ์ 6 เดือน พื้นที่ในการใช้สิทธิ์ภายในอำเภอตามบัตรประชาชน

ข้อ 3 ท่านคิดว่า กลุ่มคนที่ได้รับสิทธิ์นโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท มีรายได้ไม่ถึง 70,000 บาทต่อเดือน เหมาะสมหรือไม่

ข้อ 4 ท่านคิดว่า กลุ่มคนที่ได้รับสิทธิ์นโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท มีเงินฝากไม่เกิน 500,000 บาท เหมาะสมหรือไม่ หากเห็นว่า ไม่เหมาะสม จะมีข้อเสนอว่าควรเป็นกลุ่มคนใด

ข้อ 5 ท่านคิดว่า การใช้จ่ายเงินดิจิทัล 10,000 บาท ที่กำหนดเวลาการใช้จ่ายภายใน 6 เดือน หลังจากได้รับเงินดิจิทัล มีความเหมาะสมหรือไม่ หากเห็นว่าไม่เหมาะสม ระนะเลาที่เหมาะสมควรเป็นอย่างไร

ข้อ 6 ท่านคิดว่า การใช้จ่ายเงินดิจิทัล 10,000 บาท ที่กำหนดการใช้สิทธิ์ภายในอำเภอตามบัตรประชาชน มีความเหมาะสมหรือไม่ หากไม่เหมาะสม ควรกำหนดสิทธิอย่างไร

ข้อ 7 ท่านคิดว่า การใช้จ่ายเงินดิจิทัล 10,000 บาท สามารถใช้ซื้ออาหาร เครื่องดื่ม สินค้าอุปโภคบริโภคได้เท่านั้น เหมาะสมหรือไม่ หากเห็นว่าไม่เหมาะสม สามารถนำไปใช้จ่ายในเรื่องใดได้อีกบ้าง

ข้อ 8 ท่านเห็นด้วยหรือไม่ หากรัฐบาลต้องกู้เงิน เพื่อนำมาดำเนินนโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท (แหล่งเงินที่นำมาดำเนินนโยบายอาจมาจากการกู้ ประมาณ 5 แสนล้านบาท)

656fe8bfddddf8.85063836.PNG

ข้อ 9 ในมุมมองของท่าน การดำเนินนโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท จะมีผลดีหรือผลเสียอย่างไร ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่าแนวคิดสนับสนุนและข้อห่วงใยต่างๆ เกี่ยวกับนโยบายนี้ถูกนำมาใส่ให้เลือกตอบ โดยกำหนดให้เลือกตอบได้ไม่เกิน 3 คำตอบ
ผลดี (ตอบได้ไม่เกิน 3 คำตอบ)
- การกระตุ้นทางเศรษฐกิจ มีเงินหมุนเวียน
- กระจายรายได้สู่ประชาชนในวงกว้าง
- มีการสนับสนุนผู้ค้ารายย่อย ขนาดกลางและขนาดย่อม
- นำเงินไปสร้างอาชีพ เช่น ขายอาหาร ขายเสื้อผ้า เป็นต้น
-เป็นการสร้างความคุ้นเคยให้ประชาชนใช้เทคโนโลยีใช้จ่ายเงินดิจิทัล เพื่อสร้างสังคมไร้เงินสด 

2) ผลเสีย (ตอบได้ไม่เกิน 3 คำตอบ)
-  การเพิ่มขึ้นของหนี้สาธารณะ
- มีผลประโยชน์เฉพาะกลุ่ม เช่น กลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่ เป็นต้น
- มีช่องทางทุจริต เช่น รับแลกเงินสดไม่เต็มจำนวน เป็นช่องทางให้ร้านค้าไม่ซื่อตรงในการขายสินค้า เป็นต้น
- ค่าครองชีพสูงขึ้น สินค้าอุปโภคบริโภคราคาแพงขึ้น
- เสียโอกาสในการพัฒนาลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของประเทศที่สำคัญอื่น ๆ

ข้อ 10 จากข้อมูลนโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท ที่ท่านได้รับรู้รับทราบจนถึงปัจจุบัน ท่านมีความเห็นว่าควรมีการดำเนินงานตามนโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท หรือไม่อย่างไร ซึ่งคำถามนี้ ให้เลือกตอบได้ 3 แนวทาง หยุดการดำเนินการ, ดำเนินการต่อโดยการปรับหลักเกณฑ์ให้เหมาะสม, ดำเนินการตามที่กำหนดไว้

และปิดท้ายในส่วนแรก ด้วยคำถามปลายเปิดถึงข้อเสนอแนะต่อการดำเนินนโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท อย่างไร ซึ่งสามารถตอบได้ไม่เกิน 5 คำตอบ

สำหรับคำถามในส่วนที่สอง จะสอบถามข้อมูลทั่วไปของผู้ตอบสัมภาษณ์ ได้แก่ เพศ อายุ ระดับการศึกษาสูงสุด อาชีพปัจจุบัน รายได้ ค่าใช้จ่ายต่อเดือน และหนี้สิน

ซึ่งคำถามในส่วนนี้ นิยามความหมายของอาชีพ แม่บ้าน/พ่อบ้าน หมายถึง ผู้ที่ทำหน้าที่ดูแลครอบครัว/บ้านของตนเองโดยมีผู้อุปถัมภ์ เช่น สามี/ภรรยา แฟน บุตร บุคคลในครอบครัว เป็นต้น ไม่ใช่อาชีพแม่บ้านรับจ้างทั่วไป หากผู้ที่มีอาชีพแม่บ้านพ่อบ้านรับจ้าง ให้ระบุเป็นพนักงานหรือลูกจ้างของรัฐ หรือพนักงาน/ลูกจ้างเอกชน